ญัฮกุร ชุมชนมอญโบราณแห่งเทพสถิต

ญัฮกุร หรือเนียะกุล เป็น ชุมชนที่ใช้ภาษามอญโบราณ อยู่บนภูเขาแถบแม่น้ำป่าสัก ในเขตจังหวัดเพชรบูรณ์ จังหวัดนครราชสีมา และโดยเฉพาะที่จังหวัดเพชรบูรณ์ กลุ่มชนดังกล่าวเรียกตนเองว่า “ญัฮกุร” (Nyah-Kur) แปลว่า “คนภูเขา” คนไทยในเมืองเรียกชนกลุ่มนี้ว่า “ชาวบน” นักโบราณคดีบางกลุ่มสันนิษฐานว่าคนกลุ่มนี้น่าจะสืบเชื้อสายมาจากชาวทวารวดีโบราณ

ญัฮกุร หรือ เนียะกุล  เป็นชนกลุ่มน้อยปลูกบ้านเรือนอาศัยอยู่ตามไหล่เขาหรือเนินเตี้ยๆ แถบบริเวณด้านในของริมที่ราบสูงโคราช จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดชัยภูมิ และจังหวัดเพชรบูรณ์ ที่มีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดชัยภูมิ อย่างน้อยสามชั่วอายุคน ในอดีตมักมีการย้ายถิ่นที่อยู่ในบริเวณดังกล่าว แม้ปัจจุบันจะตั้งหลักแหล่งที่แน่นอน  การไปมาหาสู่ เยี่ยมเยียนและการนับเครือญาติในหมู่ชาวบนในบริเวณสามจังหวัดยังคงมีอยู่ ปัจจุบันชาวบนอาศัยอยู่หนาแน่นที่สุดที่บ้านน้ำลาด หมู่ที่ 4 ตำบลนายางกลัก อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ  นอกจากนี้ยังมีที่อำเภอบ้านเขว้า  บ้านวังกำแพง-อำเภอหนองบัวละเหว ที่บ้านท่าโป่ง บ้านห้วยแย้-อำเภอเทพสถิต ที่บ้านสะพานหิน บ้านสะพานยาง เป็นต้น

ชาวบน มีผิวค่อนข้างดำตาโตกว่าคนไทยทั่วไป แต่ไม่ต่างจากคนไทยมากนัก รูปร่างสูงปานกลาง ผู้หญิงจะหน้าตาดี การแต่งกายแบบดั้งเดิม ผู้หญิงจะสวมเสื้อเก๊าะ และนุ่งผ้านุ่งมีชายผ้าใหญ่ สวมสร้อยเงิน และเจาะใบหูกว้างสวมตุ้มหูใหญ่ ที่เรียกว่ากะจอน ทำด้วยไม้มีกระจกติดข้างหน้า ไว้ผมยาวเกล้ามวย ส่วนผู้ชายนุ่งผ้าโสร่งตาหมากรุก นุ่งเหน็บธรรมดา

ภาษา ชาวบนพูดภาษาตระกูลมอญ-เขมร สาขามอญ เพราะมีความใกล้เคียงกับภาษามอญโบราณ และมอญปัจจุบันมากกว่าเขมร ชาวบนที่ชัยภูมิ จัดอยู่ในภาษาญัฮกุรถิ่นใต้  ปัจจุบันชาวบนถูกกลืนด้วยประเพณีวัฒนธรรมอีสานอย่างรวดเร็ว มีบางหมู่บ้านเท่านั้นที่พูดภาษาถิ่นของตนเองได้ เหตุด้วยไม่มีการเขียน จึงทำให้ชาวบนถูกกลืนได้อย่างรวดเร็ว  ชาวบนพูดภาษามอญโบราณได้จะมีเฉพาะผู้ที่อายุเกิน 60 ปีขึ้นไป นอกจากนั้นใช้ภาษาถิ่น

การตั้งบ้านเรือน จะอาศัยอยู่กันเป็นกลุ่ม มีบางพวกอพยพหนีเข้าไปอยู่ในป่าลึก หรือบนภูเขาสูงขึ้นไป ชาวบ้านใช้แสงไฟจากตะเกียงเป็นส่วนใหญ่ อาศัยแหล่งน้ำตามธรรมชาติอยู่ในบริเวณหมู่บ้าน ฤดูแล้งจะใช้น้ำซับซึ่งมีตลอดปี มีอาชีพทำไร่ปลูกข้าวตามไหล่เขา ใช้วิธีปลูกแบบขุดหลุมหยอดที่เรียกข้าวไร่ตอนเก็บเกี่ยวก็ใช้มือรูดเมล็ดข้าวออกจากรวง ใส่กระบุงแทนการเกี่ยวข้าว นอกจากข้าวแล้วยังปลูกข้าวโพด กล้วย ละหุ่ง มันสำปะหลัง มะเขือ พริก เป็นต้น มีการเลี้ยงสัตว์ เช่น วัว ควาย หมู เป็ด ไก่  และหาของป่า เช่น หน่อไม้ เห็ด ผักหวาน ผึ้ง กบ เขียด และมีความสามารถในการจักสานโดยเฉพาะสานเสื่อ

ชาวบนนับถือศาสนาพุทธ และเชื่อในเรื่องภูติผีวิญญาณ  นิยมแต่งงานในหมู่พวกเดียวกัน มีการละเล่น เป่าใบไม้  บางครั้งใช้เป็นสัญญาณเรียกหากัน มีการเล่นเพลงพื้นบ้านเรียกว่า กระแจ๊ะ หรือ ปะเรเร เป็นการร้องโต้ตอบกันระหว่างชาย-หญิง ฝ่ายหญิงเป็นผู้ตีโทนให้จังหวะ เนื้อหาเป็นการเกี้ยวพาราสีกันระหว่างหนุ่มสาว

นอกจากนี้ยังมีประเพณีสงกรานต์ ประเพณีกระแจ๊ะหอดอกผึ้ง ประเพณีแห่พระและจุดพลุ ประเพณีแต่งงาน ชาวบนไม่รู้จักกรรมวิธีการทอผ้า แต่จะปลูกฝ้ายเพื่อไปแลกกับผ้าทอของคนกลุ่มไทยและลาว ปัจจุบันในชีวิตประจำวันมักแต่งกายเหมือนคนไทยทั่วไป

ฟ้อนผีฟ้า นิยมจัดเป็นงานประจำปีในเดือน 5 ประมาณเดือนเมษายน เป็นการเซ่นสรวงต่อผีฟ้า “พญาแถน” หรือ เทวดา ที่สถิตอยู่บนท้องฟ้าเพื่อขอความเป็นสิริมงคล อัญเชิญท่านเข้าร่างทรงให้ลงมาช่วยปัดเป่าทุกข์โศกโรคภัยแก่ชาวบ้านที่มาชุมนุมในพิธี ทั้งยังมีการเชิญเจ้าเข้าทรงรักษาอาการเจ็บไข้ของผู้ป่วยเป็นรายๆไป

พิธีกรรมผู้ฟ้อนผีฟ้ามีทั้งชายและหญิง เป็นผู้สูงอายุ แต่งกายด้วยชุดพื้นเมือง แบ่งเป็นกลุ่มๆ ละ 14-15 คน มีคนเป่าแคนคนหนึ่ง เมื่อพร้อมจะนำเครื่องเซ่นได้แก่หมากเบ็ง หรือพานบายศรี ดอกไม้ธูปเทียนผ้าไตรจีวรแป้งหอม น้ำอบ อาหารคาว-หวาน มีข้าวเหนียว ไข่ต้ม และของกินพื้นเมืองนำไปตั้งบูชานำดาบที่สะพายติดตัวมา 3-4 เล่มวางรวมกัน จุดธูปเทียน แม่ใหญ่เป็นผู้นำทำพิธี เรียกว่าหมอทรง  นางทรง หรือนางเทียม นำสวดมนต์อาราธนาศีลรับศีลห้า กล่าวขอขมาลาโทษที่รบกวนต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และอัญเชิญเจ้าผู้เป็นใหญ่ให้มาเข้าทรง เอาแป้งโรยไปบนเครื่องเซ่น แจกแป้งหอมและน้ำอบไทยทากันทั่วทุกคน จากนั้นจึงฟ้อนไปรอบๆ ต่างคนต่างรำ บ้างกระทืบเท้าให้จังหวะ ตามเสียงแคน ฟ้อนเดินเป็นวงกลมเวียนไปทางขวามือของหมอแคน คนฟ้อนจะหยุดเมื่อแคนหยุดเป่า และจะเดินไปกราบที่เจ้าพ่อพระยาแล เป็นการเซ่นสรวงต่อผีฟ้า”พญาแถน”หรือเทวดาที่สถิตอยู่บนท้องฟ้า

การวิ่งขาโถกเถก ใช้ไม้ไผ่กิ่ง 2 ลำ ถ้าไม่มีก็เจาะรูแล้วเอาไม้อื่นๆ สอดไว้เพื่อให้เป็นที่วางเท้าได้ วิธีการเล่นผู้เล่นจะเลือกไม้ไผ่ลำตรงๆ ที่มีกิ่ง 2 ลำที่กิ่งมีไว้สำหรับวางเท้าต้องเสมอกันทั้ง 2 ข้างผู้เล่นขึ้นไปยืนบนแขนงไม้ เวลาเดินยกเท้าข้างไหนมือที่จับลำไม้ไผ่ก็จะยกข้างนั้น ส่วนมากเด็กๆ ที่เล่นมักจะมาแข่งขันกันใครเดินได้ไวและไม่ตกจากไม้ถือว่าเป็นผู้ชนะ การวิ่งขาโถกเถก ถือเป็นการละเล่นที่เล่นได้ทุกโอกาส โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสงกรานต์ นอกเหนือจากความสนุกสนานแล้วยังเป็นเครื่องมือในการออกกำลังกายบริหารส่วนต่างๆ ของร่างกายได้เป็นอย่างดี เดิมผู้ที่ใช้ขาโถกเถกเป็นชายหนุ่มไปเกี้ยวสาว เสียงเดินจากไม้เมื่อสาวได้ยินก็จะมาเปิดประตูรอ เพื่อพูดคุยกันตามประสาหนุ่มสาว หรือบ้านสาวเลี้ยงสุนัข ไม้โถกเถกยังเป็นอุปกรณ์ไล่สุนัขได้

ในงานเทศกาลท่องเที่ยวชมดอกกระเจียวงาม ปี 2551 นี้ นอกจากจะได้ชมธรรมชาติที่สวยงามแล้ว ยังได้ชมการจัดนิทรรศการ และการจำลองวิถีชีวิตของชาวญัฮกุร ณ ที่ทำการอุทยานแห่งชาติป่าหินงาม   อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ เพื่อเป็นการฟื้นฟูและสืบสานภาษา วิถีชีวิต วัฒนธรรม ให้คงอยู่คู่แผ่นดินสืบไปชั่วลูกชั่วหลาน และเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป