ดานัง
เมื่อวันที่ 27-28 มีนาคม 2009 นครดานังได้จัดงานเฉลิมฉลองวันปลดปล่อยนครดานัง อย่างยิ่งใหญ่ มีการแข่งขันจุดพลุนานาชาติ ซึ่งในปีนี้เป็นครั้งที่ 2 และประเทศจีนได้ตำแหน่งชนะเลิศ
ไปดูแข่งขันพลุกัน เป็นจุดหมายแรกที่เดินทางมายังประเทศเวียดนาม นครดานัง ทั้งนี้ โดยได้รับความเอื้อเฟื้อจากบริษัทนำเที่ยวในประเทศไทย การท่องเที่ยวนครดานัง และนักธุรกิจท่องเที่ยวในนครดานัง
เริ่มเดินทางจากสถานีขนส่งสายตะวันออกเฉียงเหนือในช่วงค่ำพร้อมกับน้องๆ จากทัวร์เอเย่นต์อีก 3 สาว มาถึงจังหวัดนครพนมตอนเช้าตรู่พอดี ขมีขมันเข้าห้องน้ำล้างหน้าล้างตาแปรงฟันให้เรียบร้อย พร้อมทั้งเปลี่ยนเสื้อผ้าใหม่เพื่อเตรียมรับการเดินทางโดยรถยนต์อีก 1 วัน
มื้อเช้าที่นครพนม ด้วยความเอื้อเฟื้อจากคุณสุรศักดิ์ มิ่งเจริญพาณิชย์ เจ้าของบริษัทก้าวไกลการท่องเที่ยว ได้ส่งลูกสาวมารับแล้วนำไปยังร้านอาหารเช้าแบบเวียดนามบนถนนธำรงประสิทธิ์ เป็นอาหารที่มีรูปลักษณ์เดียวกับข้าวเกรียบปากหม้อแต่แผ่นใหญ่กว่า ไส้หมูผัดห่อเหมือนเปาะเปี๊ยะสด กินกับน้ำจิ้มหวานใส่พริกต้มบดและเหยาะน้ำปลา อร่อยเหมือนได้ขึ้นสวรรค์เชียว และยังมีการนำเอาข้าวเกรียบหน้าตาเหมือนข้าวเกรียบว่าว แต่รสชาติออกเค็มใส่งาด้วย มาหุ้มลงข้าวเกรียบปากหม้อแล้วหั่นพอคำ จิ้มน้ำจิ้มอย่างเดียวกัน อิ่ม(มาก)อร่อยกันแล้ว สาวน้อยเจ้าบ้านก็มารับไปส่งที่ท่าเรือ ที่นี่จึงได้พบกับเพื่อนร่วมเดินทางอีก 4 คน คุณสุรศักดิ์ เป็นผู้ประสานงานกับนครดานังในการนำพวกเราไปในครั้งนี้ พี่เปี๊ยก หรือวิชุกร กุหลาบศรี ผอ.การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานนครพนม พี่หมี สิทธิพันพันธ์ ตั้งตรงจิตรธนโชติ นายกสมาคมนักธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดนครพนม และน้องสิริลดา บารมี จากทัวร์เอเย่นต์อีกคนหนึ่ง ข้ามเรือไปฝั่งประเทศลาวเมื่อพ้นด่านศุลกากร สปป. ลาวแล้ว ได้พบหน้ากับสาวน้อยจากการท่องเที่ยวดานัง นามว่า หัต (แปลว่าความสุข) เธอพูดภาษาไทยได้ เพราะเข้ามาเรียนที่จังหวัดนครพนมนานนับปี พาเราขึ้นรถตู้ขับมุ่งตรงยังสี่แยกเซโน แล้วแยกซ้ายไปยังชายแดนลาวบาว เส้นทางนี้นักท่องเที่ยวไทยรู้จักเป็นอย่างดี นับตั้งแต่สะพานมิตรภาพไทยลาวเปิด เมื่อปี 2550 เป็นต้นมา คนไทยนั้นตื่นตากับสภาพบ้านเมืองลักษณะก้ำกึ่ง ที่ยังคงวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิม พร้อมกับการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดตามโลกของประเทศเวียดนาม เราเดินทางไปตามทางหลวงหมายเลข 9 ของ สปป.ลาว ระยะทางประมาณ 250 กิโลเมตร เส้นทางนี้ในอดีตฝรั่งเศสใช้เป็นเส้นทางยุทธศาสตร์เดินทางติดต่อระหว่างลาวและเวียดนาม และยังคงมีสถาปัตยกรรมเก่าแบบตะวันตกให้เห็นอยู่ที่เมืองเซโน เราเริ่มเข้าใกล้ชายแดนลาวบาว ก็ได้เวลาแวะกินอาหารกลางวันกันที่ร้านแฟนต้า ซึ่งมักจะเป็นร้านประจำของทัวร์คนไทย อาหารอร่อยพอประมาณ ให้คะแนนกลางๆ อย่างไม่เสียน้ำใจเรือข้ามโขงเมื่อผ่านด่านศุลกากรลาวบาว ข้ามมายังด่านประเทศเวียดนาม เซลวูแมนชาวลาวตามให้บริการแลกเงินก็มารุมกันนัวเนีย น้องจากทัวร์เอเย่นต์ที่เคยผ่านสังเวียนแลกเงินเวียดนามมาแล้วก็ยื่นข้อเสนอ 1,000 บาท 500,000 ขาดตัว ต่ำกว่านั้นไม่เอา แม่หญิงลาวปากแข็งไปได้สักพักใหญ่ ก็ต้องอ่อนข้อให้กับแม่หญิงไทยที่ใจแข็งกว่า ยอมให้แลกตามอัตราที่เสนอ อย่างไรก็ตาม สินค้าตามด่านถึงแม้ไม่แลกเงิน ก็ซื้อได้ด้วยเงินไทย เมื่อเปิดซอฟช้อปปิ้งกันแล้ว คือซื้อแค่เพียงนิดหน่อยพอเป็นน้ำจิ้ม เราทั้งหมดก็ขึ้นไปคุยเซงแซ่กันต่อบนรถตู้ เพราะบนเส้นทางในลาวกลุ่มสาวๆ จากกรุงเทพก็แอบงีบไปคนละพักใหญ่ๆ แล้ว มาถึงตอนนี้เลยตาสว่าง ผ่านปั๊มน้ำมันเห็นแม่หญิงลาวเซลวูแมนทั้งหลายกำลังล้อมวงหน้าดำคล่ำเคร่งเล่นไผ่กันอย่างออกรส….ตำรวจไม่จับจ๊ะ ด่านลาว-เวียดนาม บริเวณชายแดนด้านเขตประเทศลาว เวียดนามได้มาตั้งนิคมอุตสาหกรรม และจุดค้าขายสกัดคนลาวให้มาทำงานแค่จุดนี้ เพื่อที่คนลาวจะไม่ทะลักทลายเข้าไปแย่งอาชีพของคนเวียดนาม และจะได้ไม่มีปัญหาเรื่องความมั่นคงและสังคมต่อไปในอนาคต ทั้งยังไม่เปิดช่องทางให้ขบวนค้ามนุษย์ขนคนข้ามแดนเป็นว่าเล่นอย่างในประเทศไทย อย่างไรก็ตามถึงแม้อยากจะข้ามเข้าไปในเวียดนามก็ใช่จะทำได้ง่ายๆ เพราะแม้แต่คนเวียดนามเองจะย้ายถิ่นข้ามจังหวัด ก็ต้องขออนุญาตจากทางการแล้ว ไม่ได้ทำได้ตามใจคือไทยแท้เหมือนอย่างเรา ชายแดนฝั่งเวียดนาม รัฐบาลเวียดนามมีนโยบายสร้างเมืองชายแดนให้เจริญ เพื่อให้มีความชัดเจนเรื่องเขตแดน ไม่มีปัญหาในการปักปั่นทีหลัง เราจึงเห็นเมืองชายแดนของเวียดนามนั้นจะมีศูนย์กลางการค้า อาคารร้านค้า บ้านเรือนที่สร้างขึ้นใหม่อย่างใหญ่โตมั่นคง จากนั้นเราได้เดินทางถึงเมืองกวางจริ หรือกวางตรีอย่างที่บ้านเราเรียก เส้นทางประมาณ 100 กิโลเมตร จากนั้นก็ออกนอกเมืองรถขับเคลื่อนไปตามถนนที่เลียบภูเขาสูง มีสายน้ำไหลอยู่ทางด้านขวามือ จากสายน้ำเล็กๆ ค่อยๆ ขยายใหญ่ขึ้น เป็นเส้นทางธรรมชาติที่สวยงามมาก สองข้างทางมีชาวบ้านอาศัยอยู่ห่างๆ กัน บ้านที่เป็นของชาวเวียดนามจะปลูกสร้างติดดิน มีเรือนประธานหันหน้าออก แบ่งเป็น 3 ห้อง ห้องกลางเป็นที่ตั้งโต๊ะบูชาบรรพบุรุษ ห้องขวามือเป็นห้องของผู้อาวุโสสูงสุด อาจเป็นห้องของพ่อ และด้านซ้ายเป็นห้องลูกชาย และมีเรื่อนขวางที่ปลูกติดกัน เป็นที่อยู่อาศัยของลูกสาว และทั้งยังเป็นที่ทำครัวอีกด้วย ทุกบ้านจะมีรูปแบบเดียวกัน ปลูกสร้างด้วยไม้จริง ไม้ไผ่ หรือเป็นตึก ก็ขึ้นกับฐานะของเจ้าของบ้าน ส่วนบ้านที่สร้างใต้ถุนสูงนั้นเป็นบ้านของชนเผ่าปาโก คนชนเผ่าเหล่านี้ใช้นามสกุล โฮ เพราะเป็นกลุ่มคนที่เป็นกำลังรบหลักในสงครามเวียดนามในเขตนี้ เมืองกวางตรีชาวบ้านจะทำการเกษตรเป็นอาชีพหลัก มีการส่งออกกล้วย พริกไทย ฯลฯบ้านรูปแบบมาตรฐานในวัฒนธรรมของชาวเวียดนามเมื่อรถขับเคลื่อนข้ามเทือกเขามาแล้ว ความเยือกเย็นก็ชุ่มชื้นมากขึ้น รู้สึกได้ว่าแตกต่างจากด้านลาวและไทย ด้วยเทือกเขาสูงนี้ได้สกัดกั้นความชื้นจากชายฝั่งตะวันออกไว้นั้นเอง จากกวางตรี เราก็เดินทางถึงเว้ มหานครที่ยิ่งใหญ่ในอดีตของเวียดนาม ก่อนที่ฝรั่งเศสจะบินข้ามกำแพงไปหย่อนระเบิดบอมบ์เมืองจนต้องตกเป็นเมืองขึ้นตั้งแต่นั้นมา เรามาถึงก็เย็นย่ำแล้ว เลยไม่ได้แวะชมเมือง ด้วยต้องทำเวลา รีบเดินทางสู่ดานัง เข้าสู่นครดานังราวกว่า 1 ทุ่ม รถของเราก็วิ่งลอดอุโมงค์ฮายเวิน ที่มีความยาวถึง 6.28 กิโลเมตร ใช้เวลาราว 15 นาที เป็นอุโมงค์ที่เจาะลอดภูเขาสูง ช่วยย่นระยะทางเข้าเมืองดานังได้มากโขทีเดียว เหมือนรู้ใจ จุดหมายปลายทางแห่งแรกในดานัง คือ ภัตตาคาร 4 you เราเดินลงจากรถก็ปะหน้ากับรีเซฟชั่นสาวสวยหน้าหวานในชุดอ๊าวหญ่าย อาหารค่ำมื้อแรกในนครดานังก็เริ่มต้นขึ้น ทั้งหมดเป็นซีฟู้ด ในรสชาติของชาวเวียดนามที่คุณสุรศักดิ์บอกว่ามีการปรับให้ถูกปากคนไทยบ้างแล้ว อาหารหายลงท้องไปอย่างรวดเร็ว ถึงแม้ว่าซุปสาหร่ายที่ร้านนี้ออกจะสดมากไปหน่อยจนน้ำแกงออกสีเขียว และเส้นก็ยืดยาวยากแก่การหม่ำเสียนี่กระไร เมื่ออิ่มหน่ำสำราญกันดีแล้ว ก็มาเช็คอินเข้าพักในโรงแรม อาบน้ำแล้วโผขึ้นเตียงหลับสนิทมาตื่นอีกทีก็ตีห้าแล้ว เพราะถูกปลุกด้วยเสียงของจักรยานยนต์จากนอกโรงแรมนั้นเองยามเช้าที่แสนสดชื่น เราขึ้นมาชั้นเก้าของโรงแรม ซึ่งเป็นที่รับประทานอาหารเช้า ทุกอย่างที่เป็นอาหารฉบับเวียดนาม ก็ลองตักเอามาชิมแล้วก็ถ่ายรูปมาให้ชม เราคงคุ้นลิ้นกับอาหารเวียดนามในเมืองไทยมาบ้างแล้ว ถึงแม้รสชาติจะอ่อนเยาว์กว่าอาหารไทย แต่เราก็ใช้เครื่องปรุงที่ตั้งไว้ให้เป็นประโยชน์…เจริญอาหารกันแค่ไหน ก็ดูได้จากรูปภาพค่ะ อ้อ..ต้องขอเตือนเพื่อนๆ คอกาแฟจากเมืองไทยนะค่ะว่า กาแฟเวียดนาม โดยเฉพาะในดานังที่ได้ดื่ม นั้นเข้มข้นจริงๆ ต้องเติมน้ำร้อนกันเลยทีเดียว… ดานัง ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำหาน เมืองนี้เติบโตขึ้นมาจากหมู่บ้านชาวประมง ปัจจุบันได้กลายเป็นเมืองท่าที่สำคัญและใหญ่เป็นอันดับ 4 ของประเทศ เมื่อครั้งอยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศสเป็นที่รู้จักกันในชื่อ ทูแรน ทว่าเมืองดานัง กลับมีชื่อเสียงติดปากชาวต่างชาติก็เนื่องมาจากสงครามเวียดนาม เพราะนาวิกโยธินสหรัฐอเมริกาชุดแรกจำนวน 3,500 คน ได้ยกพลขึ้นบกที่นี่เมื่อปี พ.ศ. 2508 และหลังจากนั้นอีกเพียง 10 ปี กองกำลังคอมมิวนิสต์ของโฮจิมินห์ ก็เคลื่อนพลผ่านไปได้อย่างสบายเพื่อไปยึดเวียดนามใต้ |
สาวน้อยใสดใสนเครื่องแบบนักเรียนมัธยม | จนย่างเข้าสู่ศตวรรษที่ 19 เมืองนี้จึงกลับมาเจริญอีกครั้งภายหลังที่สภาพแวดล้อมทางกายภาพและทางสังคมเมืองฮอยอันที่อยู่ใกล้เคียงกัน มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง แม่น้ำหลายสายเปลี่ยนเส้นทาง เนื่องจากแม่น้ำทูโบนเกิดตื้นเขินและกีดขวางการสัญจรทางทะเล เมืองท่าดานังจึงได้รับการสร้างขึ้นมาแทนที่ในฐานะเมืองท่าและศูนย์กลางการค้าที่สำคัญที่สุดในเขตภาคกลางของเวียดนาม ผลผลิตทางการเกษตรเด่นๆ ของจังหวัดนี้ได้แก่ อบเชยจากตรามี พริกไทยจากเตียนเฟือก ยาสูบจากกามเล ผ้าไหมจากฮวาวาง หญ้าฝรั่นจากตามกี และรังนกนางแอ่นจากหมู่เกาะนอกชายฝั่ง |
ปัจจุบันเมืองดานังเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว มีตึกรามบ้านช่อง โรงแรมร้านอาหารสมัยใหม่เกิดขึ้นมากมาย เพราะเป็นเมืองท่ามีความสะดวกในด้านการคมนาคมขนส่ง มีสนามบินนานาชาติดานังเป็นศูนย์กลางการเดินทางท่องเที่ยวในเขตภาคกลาง ตลอดจนสถานที่ท่องเที่ยวอันน่าสนใจมากมาย ตั้งแต่โบราณสถานหมี่เซินที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นมรดกโลก พิพิธภัณฑ์ประติมากรรมของจามที่เจริญรุ่งเรืองมาก่อนยุคสมัยใด แหล่งหินอ่อนบนภูเขาธาตุทั้งห้า และชายหาดนอนเนื๊อกที่ชาวต่างชาติยกย่องว่าสวยงามไม่แพ้ชายหาดใดในโลก ทำให้ดานังไม่ได้เป็นแค่เมืองท่าริมแม่น้ำหานที่ใช้เพียงขนส่งสินค้าระหว่างประเทศเท่านั้น แต่ยังทำหน้าที่เป็นประตูต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทั่งทุกมุมโลกอีกด้วย | บ้านเรือนร้านค้าในเมืองดานัง |
สถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ |
ภูเขาหินอ่อน หรือภูเขาธาตุทั้งห้า |
หญิงเวียดนามกำลังขัดเงาชิ้นประติมากรรมที่แกะสลักจากหินอ่อนขนาดใหญ่ | ภูเขาหินอ่อนตั้งอยู่อยู่ทางทิศใต้ของเมืองดานัง ประกอบด้วยเนินเขาน้อยใหญ่ 5 ลูก ชาวเวียดนามจึงเรียกอีกชื่อว่า ภูเขาแห่งธาตุทั้งห้า ภูเขาเหล่านี้เคยเป็นกลุ่มเกาะนอกชายฝั่ง แต่เนื่องมาจากการตกตะกอนทับถมกันปีแล้วปีเล่าทำให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของแผ่นดินใหญ่ ภายในภูเขามีแท่นบูชาของพระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ และเทพเจ้าองค์อื่นๆ ตามความเชื่อของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในแถบนั้น และในภูเขา ถุ่ยเซิน ในอดีตชาวจามเคยใช้เป็นที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา และยังคงเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาอยู่ในปัจจุบันบริเวณหน้าทางขึ้นสู่ถ้ำ มีร้านค้าที่แกะสลักหินอ่อนเป็นรูปทรงและลวดลายต่างๆ ให้เลือกซื้อเลือกชม จากนั้นเดินผ่านบันไดทางขึ้นค่อนข้างชันมายังลานด้านบน มีทางเดินต่อไปยังจุดชมวิวที่สามารถมองเห็นเมืองดานังท่ามกลางขุนเขาใหญ่น้อยได้อย่างสวยงาม ขากลับให้เดินลงอีกด้านหนึ่ง ไปยังจุดชมวิวที่มองเห็นผืนน้ำสีครามของท้องทะเลดานังได้กว้างไกลสุดตา และได้ชมเจดีย์ทรงเก๋งอีกด้วย |
พิพิธภัณฑ์ประติมากรรมจาม |
จามเป็นชนชาติที่รุ่งเรืองมาก่อนอาณาจักรใดๆ ในภูมิภาคนี้ จามเคยเป็นชาติใหญ่ มีอาณาจักรเป็นของตนเอง และเคยครอบครองดินแดนภาคกลางของประเทศเวียดนามมาก่อน ในราวพุทธศตวรรษที่ 7-8 แต่ต้องเสื่อมสิ้นไปเพราะการรุกรานของคนเวียด และการทำศึกสงครามกับคนขอมหรือเขมร ในปัจจุบัน ชนชาวจามเป็นชนกลุ่มน้อยในเวียดนามและเขมร รวมทั้งในประเทศไทยด้วยพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ตั้งอยู่ในเมืองดานัง ได้ทำการรวบรวมประติมากรรมแกะสลักหิน บางชิ้นก็เป็นรูปหล่อสัมริด จัดแสดงไว้มากมาย พิพิธภัณฑ์ประติมากรรมของจาม ได้รับการจัดตั้งขึ้นโดยสถาบันวิจัยทางโบราณคดีของฝรั่งเศส (Ecole Francaise d Extreme Orient) เมื่อปี พ.ศ. 2479 นิทรรศการที่จัดแสดงไว้ตามห้องต่างๆ ที่สะท้อนถึงยุคสมัยทั้ง 4 ยุคตามแหล่งกำเนิดของอารยธรรม ได้แก่ หมี่เซิน ตราเกียว ด่งเดือง และทาพเมิม | ประติมากรรมแกะสลักหินที่สวยงามอ่อนช้อยของจาม |
อ่าวดานัง |
เรือกระจาดใช้ไม้ไผ่สานยาดัวยชัน | อ่าวดานัง (Danang Bay) อยู่ห่างออกมาจากตัวเมืองดานังขึ้นมาทางทิศเหนือราว 15 กิโลเมตร มีชายหาดทอดยาวขนานไปกับทิวเขาสลับซับซ้อน แม้ว่าที่นี่จะไม่ขึ้นชื่อเรื่องความสวยงามเหมือนชายหาดนอนเนื๊อก แต่คุณจะได้พบเห็นวิถีชีวิตชาวบ้านที่ใช้เรือกระจาดที่ใช้ไม้ไผ่สานทั้งลำ ยาด้วยชัน เป็นพาหนะล่องลอยเหนือผืนน้ำที่หาดูได้จากที่นี่เพียงแห่งเดียว อ่าวดานังเป็นหาดทรายสีน้ำตาลเข้ม เต็มไปด้วยเรือกระจาดที่จอดเรียงรายอยู่ริมชายฝั่ง ตลอดจนเรือที่ออกหาปลาอยู่กลางทะเล จึงเหมาะที่จะมาเดินเล่นชมวิวทิวทัศน์อย่างเพลิดเพลิน |
หาดนอนเนื๊อก |
หาดนอนเนื๊อกอยู่ใกล้กับหมู่บ้านนอนเนื๊อก เป็นหาดทรายที่เงียบสงบและสวยงาม ทอดตัวยาวไปทางด้านทิศใต้ หาดไบเบียนนอนเนื๊อก หรือที่ชาวต่างชาติเรียกกันว่า หาดจีน อดีตทหารอเมริกันใช้เป็นแหล่งพักผ่อนในระหว่างพักรบช่วงสงครามเวียดนาม หาดจีนมีความสวยงาม ด้วยหาดทรายสีขาวละเอียดที่ทอดยาวตัดกับน้ำทะเลสีฟ้าคราม ริมหาดรายเรียงไปด้วยทิวมะพร้าว บรรยากาศเงียบสงบเหมาะทั้งลงเล่นน้ำและพักผ่อนหย่อนใจ การเดินทางมาก็แสนสะดวกเพราะอยู่ไม่ไกลจากตัวเมือง มีทั้งที่พักและร้านอาหาร ชาวเวียดนามนิยมมาพักผ่อนหย่อนใจในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ ส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้มาเยือนเมืองดานัง ก็มักจะมาเที่ยวชมความสวยงามที่ชายหาดแห่งนี้ด้วยเช่นกัน |
บานา |
พระพุทธรูปหินอ่อนประดิษฐานอยู่บนยอดเขา | บานา ตั้งอยู่ในจังหวัด Hoa Vang ทางตะวันตกเฉียงใต้ ห่างจากดานัง 40 กิโลเมตร อยู่บนภูเขา Chua สุงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 1,487 เมตร อุณหภูมิเฉลี่ย 17-20 องศาเซลเซียส ในบานามี 4 ฤดูใน 1 วัน ฤดูใบไม้ผลิในตอนเช้า ฤดูร้อนในตอนกลางวัน ฤดูอบอุ่นในตอนบ่าย และหนาวในตอนค่ำ ในหน้าฝน ฝนจะตกรอบๆ ที่เชิงเขาเท่านั้น แต่บนยอดเขาจะแห้ง และเมื่อขึ้นไปยังยอดเขาด้วยกระเช้าไฟฟ้าที่สร้างและปรับปรุงใหม่ให้ทันสมัย ก็จะสามารถชมวิวทิวทัศน์แบบพานอรามา มองเห็นเมืองดานัง ทะเล ทุ่งนา และป่าเขาที่สวยงาม |
ด้วยอากาศที่เย็นสบาย และแวดล้อมไปด้วยธรรมชาติที่สวยงาม บานา จึงเป็นเมืองที่ชาวฝรั่งเศสขึ้นไปสร้างวิลล่า ปราสาท และรีสอร์ทตากอากาศ ในสมัยที่เข้าครอบครองเวียดนาม ปัจจุบันรัฐบาลเวียดนามได้พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว เมื่อมาถึงยอดเขามีพระพุทธรูปหินอ่อนประดิษฐาน และวัดแบบศาลเจ้าจีนที่สวยงามให้เที่ยวชมในวันแรกที่เปิดให้ประชาชนขึ้นกระเช้าไฟฟ้าที่ปรับปรุงใหม่ คณะพรรคของเราก็มีโอกาสขึ้นไปเที่ยวชมบนยอดเขา และเก็บภาพมาฝาก บริเวณโดยรอบบนยอดเขายังมีการก่อสร้างต่อเติมอีกหลายแห่ง ซึ่งมีทั้งโรงแรม ภัตตาคาร และอื่นๆ อีกมากมาย | cable car ที่ทอดข้ามภูเขาสูงหลายลูกขึ้นสู่บานา |
ขอขอบคุณDanang Department of Culture,Sports and Tourism.ความเอื้อเฟื้อDanang Tourism Joint-stock CompanyในการเดินทางRoute 9 Travel Kao Klai Travel Fuji Tour Co.,Ltd. |