ดาหลา
ดาหลา ทำให้คิดถึงสาวงามที่โดดเด่น ต้องตาจับใจทันทีที่พบเห็น ความคมเข้มนั้นปรากฏออกมาในรูปทรงดอกและสีสันเย้ายวนใจ การปลูกดาหลาเป็นไม้ประดับสวน ส่วนใหญ่มักจะใช้เป็นฉากหลังของสนาม ที่ให้ดอกสีแดงสดกับสีชมพูอ่อนโยนผุดขึ้นมาจากต้นใต้ดิน ตัดกับสีเขียวขจีของพื้นสนามหญ้า ส่วนดอกสีขาวนั้นจัดว่าเป็นชนิดที่หายากจึงเห็นได้ไม่มากนัก
จากถิ่นกำเนิดป่าฝนร้อนชื้น ซึ่งมีการบันทึกว่าดาหลาถูกนำออกจากชวาและสุมาตราจนแพร่กระจายออกไปในเขตร้อนและอบอุ่นทั่วโลก ซึ่งแน่นอนดาหลาเป็นพืชพื้นถิ่นในแถบภาคใต้ของไทยด้วยเช่นกัน ดาหลาออกดอกให้เก็บได้ตลอดทั้งปี และให้ดอกดกในช่วงฤดูร้อน ทำให้เป็นไม้ตัดดอกที่ทำมูลค่ามหาศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศออสเตรเลีย ส่วนประเทศไทยนั้นมีการจำหน่ายดอกเฉพาะตลาดภายในประเทศเท่านั้น
ในธรรมชาตินั้น ดาหลาเติบโตได้ทั้งในป่าดิบชื้นสมบูรณ์ และป่าเสื่อมโทรมที่ยังคงมีสารอินทรีย์ธรรมชาติอย่างพอเพียง ขึ้นได้ดีในอุณหภูมิ 10-35 องศาเซลเซียส ในพื้นที่แสงรำไร หรือในร่มเงาไม้ยืนต้น ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดและการปักชำเหง้า ในประเทศไทยนิยมปลูกในจังหวัดยะลาและนราธิวาสมาช้านานแล้ว ทั้งยังมีการรวบรวมพัฒนาพันธุ์เพาะเลี้ยงไว้ในศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเกษตรจังหวัดตรังอีกด้วย
บ้านเรานอกจากใช้ดอกดาหลามาตกแต่งประดับประดาแล้ว ยังนำกลีบดอก และต้นอ่อนมาปรุงอาหารอีกด้วย เช่น นำกลีบดอกมาหั่นฝอยๆ ใส่ในข้าวยำ อาหารพื้นบ้านทางภาคใต้ ตันอ่อนนำมากินเป็นผักสด หรือเผาไฟเป็นผักจิ้มน้ำพริก ทั้งยังทำเป็นเครื่องดื่มด้วยกลีบดาหลาได้อีกด้วย ในประเทศมาเลเซีย เกาะสุมาตรา และชวา ใช้เป็นเครื่องปรุงรสของอาหารท้องถิ่นหลายชนิด
ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใช้ดาหลาในยาแผนโบราณ ในการรักษาอาการปวดหูและทำความสะอาดแผล มีความเชื่อว่าการบริโภคกลีบดอกดิบเป็นประจำทุกวันสามารถลดโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง ช่วยขับลมแก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ใช้แก้โรคลมพิษ และโรคผิวหนังได้อีกด้วย ลำต้นทำเป็นวัตถุดิบในการผลิตกระดาษ เหง้ามีรายงานว่าให้สีย้อมเป็นสีเหลือง ทั้งยังมีการวิจัยน้ำหอมระเหยถึงองค์ประกอบของสารต้านอนุมูลอิสระในห้องทดลอง ซึ่งได้มีการสกัดน้ำหอมระเหยออกมาจำหน่ายในท้องตลาดกันบ้างแล้ว
ดาหลาเป็นพืชวงศ์เดียวกับขิง ข่า ชื่อสามัญภาษาไทย ดาหลา กาหลา จินตะหลา เป็นต้น ภาษาอังกฤษเรียกแตกต่างกันหลากหลายว่า Torch ginger, Ginger flower, Red ginger lily, Torch lily, Wild ginger, Philippine wax flower เป็นต้น ชื่อวิทยาศาสตร์:Etlingera elatior (Jack) R.M. Smith)