ปากะญอที่ป่าละอู
เผ่ากะเหรี่ยง (ปากะญอ) บ้านป่าละอู
ชาวกระเหรี่ยงอาศัยอยู่ในหมู่ 3 บ้านป่าละอู ตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์สร้างบ้านลักษณะเป็นกระท่อมไม้ไผ่ชุมชนป่าละอูเป็นชุมชนที่ค่อนข้างกว้าง มีจุดศูนย์กลางที่บริเวณหมู่ที่ 3 บ้านป่าละอู โดยมีบริเวณรอบนอกที่มีการเคลื่อนที่ไปมาในบริเวณลุ่มน้ำสะตือบนและล่าง ซึ่งกะเหรี่ยงเรียกว่า “กะตือหล่อ” หรือ “กะตือคี้” หรือ “กะตือนี” แปลว่า ลุ่มน้ำกะตือ หรือต้นน้ำกะตือ หรือปลายน้ำกะตือ เป็นพื้นที่ที่กะเหรี่ยงจะไปทำไร่ และอยู่อาศัยชั่วคราว จากนั้นก็จะกลับมาอยู่รวมกันที่บ้านป่าละอู
บริเวณ “เลอมือพู้หล่อ” แปลว่า ห้วยผาน้อย แต่ก่อนบริเวณนี้เป็นแนวเส้นทางคนเดินทางข้ามไปฝั่งพม่า เพื่อข้ามไปสู่บ้าน “สะเก็ด” ในฝั่งพม่า ในปัจจุบันก็ยังใช้เดินทางในบางโอกาส บริเวณน้ำตกป่าละอู ปัจจุบันอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี
ชาวกระเหรี่ยง หรือ ปากะญอ ดำรงชีพด้วยการทำไร่ ปลูกข้าว โดยในไร่ข้าวก็จะมี งา แง ยาสูบ เผือก มัน อ้อย กล้วย ถั่ว ฟัก แฟง บวบ ฟักทอง ผักต่าง ๆ อีกหลายชนิดมีการล่าสัตว์เป็นบางครั้ง บางคนมีความเชี่ยวชาญในการตีผึ้งบนต้นไม้สูง มีการจักสานผลิตเครื่องมือเครื่องใช้บางอย่างใช้เอง มีการค้าขายกับคนภายนอกบ้างเล็กน้อย
กระเหรี่ยงป่าละอูนับถือศาสนาพุทธ แต่จะมีพิธีกรรมทางศาสนาของตนเองเป็นลัทธิประเพณีทางความเชื่อที่กลมกลืนไปกับศาสนาพุทธได้ มีนิสัยรักสันโดษ ไม่ชอบความวุ่นวาย หากมีเรื่องวุ่นวายก็จะพยายามหลีกหนี และมีความซื่อสัตย์
พระสงฆ์ไทย 2 รูป ที่มีความเกี่ยวข้อง คือ เจ้าอาวาสวัดมฤคทายวันได้ให้ความช่วยเหลือชาวกะเหรี่ยงป่าละอู และป่าเด็ง จนนำมาซึ่งนามสกุล จันทร์อุปถัมภ์ เนื่องจากตัวท่านเป็นที่รู้จักในชื่อเรียกว่า หลวงพ่อจันทร์ ส่วนอีกรูปหนึ่ง คือ หลวงพ่อแก้ว วัดนาห้วย ท่านจะให้ความช่วยเหลือเด็กกะเหรี่ยงในเขตอำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จนนำมาซึ่งนามสกุลแสงกล้า และ แก้วช่วยชุบ
ภูมิปัญญาพื้นบ้าน มีภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการทอผ้าด้วยกี่เอว ซึ่งมีลายที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ และการร้อยลูกปัดคอ
ภาษาที่ใช้ในการสื่อสารในกลุ่มชน ใช้ภาษากะหร่างเป็นหลัก แต่ก็จะมีหลายคนที่สามารถใช้ภาษากะเหรี่ยงที่มาจากจังหวัดเพชรบุรีได้