มะริค พม่า

ชมธรรมชาติ-วิถีชีวิต ไหว้พระ และชิมซีฟู้ดสดอร่อย เดินทางด้วยรถยนต์จากบ้านบูด่อง ผ่านอำเภอตะนาวศรี

สะพานข้ามลำน้ำตะนาวศรี ที่อำเภอตะนาวศรี ที่อยู่ระหว่างทางจากบ้านบูด่องกับมะริด

ด่านสิงขร จุดที่แคบที่สุดของประเทศไทย เป็นจุดผ่อนปรนพิเศษที่เริ่มเปิดเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2558  โดยอนุญาตให้ชาวไทย และพม่าสามารถข้ามแดนและอยู่ได้รวม 7 วัน ชาวพม่าจะอยู่ได้เฉพาะในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์เท่านั้น ส่วนคนไทยออกไปได้ถึงจังหวัดมะริดลึกเข้าไปในชายแดนพม่าประมาณ 10 กิโลเมตร มีวัดเจดีย์ทอง เป็นวัดที่เก่าแก่ที่มีความสำคัญต่อชุมชนสะพาน 3 ภายในบรรจุไว้ด้วยพระบรมสาลีริกธาตุ จากนั้นก็ผ่านพื้นที่ของ PTT OIL PALM โรงงานที่มีความสำคัญของหมู่บ้านมูด่อง ตำบลมูด่อง อำเภอตะนาวศรี จังหวัดมะริด ซึ่งกำลังจัดให้เป็น 1 ในพื้นที่ผลิตปาล์ม เป็น 1 ในโครงการ Tanintary will be the oil bowl of Myanmar หรือพื้นที่พลังงานทดแทนแห่งสหภาพเมียนมาร์อีกด้วย โดยพื้นที่การปลูกปาล์มทั้งหมดของโรงงานมีมากถึง 25,000 ไร่

หมากพืชเศรษฐกิจของดินแดนแถบนี้

จากมูด่องเข้าไปประมาณ 35 กิโลเมตร ก็ถึงสะพานข้ามลำน้ำมะริด ข้ามเขาสูงไปลงสู่ที่ราบอำเภอตะนาวศรี จากนั้นข้ามลำน้ำตะนาวศรีแล้วเดินทางต่อไปยังจังหวัดมะริด สองข้างทางได้เพลิดเพลินกับการชมธรรมชาติป่าเขา ทุ่งนา และหมู่บ้านที่ยังมีความเป็นอยู่ที่ใกล้ชิดธรรมชาติ สภาพถนนเล็กและบางช่วงก็ยังก่อสร้าง จึงต้องขับรถช้าๆ กินเวลาประมาณ 5 ชั่วโมง ถ้าไม่แวะพักมากนัก เมื่อเข้าสู่เมืองมะริดจึงจะเห็นการปลูกสร้างอาคารเป็นตึกที่ก่อด้วยอิฐและใช้ปูนซิเมนต์ ระยะทางรวมจากบ้านบูด่องจนถึงมะริดราว 180 ไมล์ หรือ 289.67 กิโลเมตร 

มะริดเป็นเมืองชายฝั่งขนาดใหญ่เมืองหนึ่งของสหภาพเมียนมาร์ตอนใต้ ยังคงมีทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ ป่าเขา สายน้ำ และเกาะแก่งในน่านน้ำอันดามัน ในตัวเมืองมีประชาชนอาศัยค่อนข้างหนาแน่น มีการค้าขาย และสัญจรโดยรถยนต์ มอเตอร์ไซค์อย่างคับคั่ง ร้านอาหารแบบดั้งเดิมขายอาหารพื้นบ้าน ร้านอาหารที่เปิดใหม่มีกุ๊กชาวพม่าที่ผ่านงานร้านอาหารในเมืองไทย หรือภัตตาคารจากเกาะสอง มีที่พักทั้งเกสท์เฮ้าส์  โรงแรมตั้งแต่ 5 ดาวเปิดใหม่เอี่ยมลงทุนโดยคนไทย และระดับ 4 ดาว 3 ดาวลงมา เตรียมพร้อมสำหรับต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวไทยโดยเฉพาะ จากการเปิดด่านผ่อนปรนพิเศษที่ชาวไทยและพม่าสามารถเดินทางเข้าออกที่ด่านสิงขร และอยู่ได้คราวละ 7 วัน

ประชาชนจำนวนมากที่ยังคงอาศัยอยู่ตามเกาะต่างๆ  มีอาชีพทำการประมงในน่านน้ำที่ยังอุดมสมบูรณ์ด้วย ทรัพยากรสัตว์น้ำ มีการเดินทางสัญจรทางน้ำไปมาอย่างคึกคักระหว่างเกาะต่างๆ กับตัวเมืองมะริด เส้นทางบกทางด้านพม่ากำลังทำถนนหนทางจากชายแดนประเทศไทยไปเมืองมะริด แม้จะมีสภาพขุรขระบ้างบางตอน แต่ก็สามารถเดินทางได้อย่างสะดวก  ซึ่งมีทั้งรถบัสโดยสารและรถตู้โดยสาร ออกเดินทางจากบ้านบูด่องไปยังมะริดตลอดเวลา

ด้วยทำเลที่ตั้งของเมืองอยู่บนพื้นที่เกิดจากตะกอนของปากแม่น้ำตะนาวศรีหลวงที่ไหลออกมาทับถมกัน และมีเกาะต่างๆ มากมายที่ตั้งอยู่ในอ่าวมะริด Kadan เป็นเกาะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดใน 800 เกาะของหมู่เกาะมะริด  Pataw Padet เป็นเกาะเล็กๆ ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามเมืองมะริด เป็นที่ตั้งฟาร์มปูนิ่มของคนไทย และอู่ต่อเรือ รวมไปถึงพระนอนขนาดใหญ่โดดเด่นเห็นได้แต่ไกล ทั้งจากชายฝั่งและจากเรือที่แล่นเข้ามาทางด้านทิศใต้  อีกด้านหนึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปยืนที่เห็นได้จากเรือเมื่อแล่นเข้าสู่มะริดทางด้านทิศเหนือ  เกาะต่างๆ เหล่านี้ยังกำบังลมแรงที่พัดมาจากทะเลอันดามันได้เป็นอย่างดี ทำให้มะริดเป็นเมืองท่าที่ใช้งานได้ตลอดทั้งปี  ด้วยมะริดเป็นเมืองท่านานาชาติที่มีความรุ่งเรืองมายาวนานตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จึงมีผู้คนหลากหลายเชื้อชาติอาศัยอยู่ร่วมกันมา ทั้ง พม่า มอญ ยะไข่ กะเหรี่ยง อังกฤษ ฝรั่งเศส โปรตุเกส ฮอลันดา อินเดีย อิหร่าน จีน ญี่ปุ่น มลายู และสยาม  จึงจะเห็นได้ว่าที่นี่มีวัดพุทธ วัดฮินดู ศาลเจ้าจีน มัสยิด โบสถ์คริสต์ อยู่รวมกันในเมืองอย่างมากมาย

มะริดเป็นเมืองท่าที่เจริญรุ่งเรืองมาแต่สมัยแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีฐานะเป็นหนึ่งในสองเมืองท่าฝั่งอันดามันที่มีความสำคัญยิ่งของอยุธยา อีกเมืองหนึ่งคือ ภูเก็ต โดยให้ชาวอังกฤษคือ Samuel White และคนถัดมาชาวฝรั่งเศส คือ Chevalier de Beauregard มาเป็นเจ้าเมืองที่นี่ และใช้มะริดเป็นเมืองท่าในการติดต่อกับเมือง Madras อินเดีย และชาติตะวันตก ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลกับเมืองตะนาวศรี ทั้งใช้เป็นเส้นทางลำเลียงขนสินค้าไปยังอยุธยาได้ง่าย  โดยไม่ต้องเสียเวลาอ้อมแหลมมลายูเสี่ยงกับโจรสลัดที่ชุกชุม

มะริดเคยมีฐานะเป็นนครรัฐอิสระเฉกเช่นเดียวกับเมืองทวาย  ซึ่งเป็นกลุ่มชนเดียวกัน มีบันทึกโบราณตั้งแต่ พ.ศ.735  ในปี ค.ศ.1287 สุโขทัยก็สามารถตีและยึดได้ มะริดจึงอยู่ใต้การปกครองของสยามต่อเนื่องมาจนถึงสมัยอยุธยา อาจมีบ้างที่ถูกพม่ายึดไปในช่วงระยะเวลาสั้นๆ จนกระทั่งถึงตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าเมื่อ ค.ศ.1765   ในปี พ.ศ. 2334 มะริดอยู่ภายใต้การปกครองของสยามอีกครั้งหนึ่ง มาจนถึง ค.ศ.1826 มะริดจึงตกเป็นเมืองอาณานิคมของอังกฤษ พร้อมกับทวายและแคว้นตะนาวศรี รวมๆ แล้วก็อาจอยู่ภายใต้การปกครองของสยามกว่า 400 ปี 

 เจดีย์ทอง แบบสยาม เดิมเป็นยอดแหลม ภายหลังพม่าได้นำฉัตรมาสวมไว้

พระพุทธรูปศิลปะแบบสยามในเมืองมะริด มีลักษณะแตกต่างจากพระพุทธรูปพม่า คือ มีพระเมาลีแหลม  มีพระพุทธรูปสององค์ที่ประดิษฐานอยู่ที่กุฏิวัดมัณฑะเลย์ อีกองค์หนึ่งประดิษฐานอยู่ที่วัดไท (Wattaik kyuang) ทั้งยังมีพระพุทธรูป 3 องค์เรียงกันในโบสถ์ มีพระพุทธรูปปางป่าเลไลย์อยู่ด้านหน้า ปางสมาธิอยู่ตรงกลาง และปางไสยาสน์อยู่ด้านหลัง พบที่โบสถ์วัดพระธาตุเมืองมะริด (Laykywanhsimee Setitawkyee) และวัด Taw Kyaung   ยังมีพระพุทธรูปแบบสยามอีกในระเบียงคตที่ส่วนใหญ่เป็นลวดลายแบบสยาม โดยเฉพาะวัดไท (Wattaik kyuang)

ชาวมะริดมีสำเนียงภาษาท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์ จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับภาษาพม่าสำเนียงทวาย มีอาหารท้องถิ่นแบบฉบับของมะริด โดยเฉพาะก๋วยเตี๋ยวผัด อันโด่งดังไปทั่วพม่าที่มีวิธีการปรุง รสชาติอาหารเป็นแบบเดียวกับอาหารท้องถิ่นแบบจีนของเกาะปีนังในปัจจุบัน  ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ในอดีตระหว่างปีนังกับมะริดและชาวจีนจากมาลายูได้เข้ามาอาศัยอยู่ในมะริดกลายเป็นชนกลุ่มหลักของมะริดด้วยเช่นกัน 

มะริด เมืองที่เต็มไปด้วยสีสัน มีชีวิตชีวา เป็นแหล่งหลอมรวมวัฒนธรรมของผู้คนที่ได้มาอยู่รวมกัน เป็นเรื่องราวที่มีเสน่ห์ชวนให้น่าค้นหา ทั้งคนไทยเองก็สามารถสัมผัสกลิ่นอายของสยามที่ครั้งหนึ่งได้ยังความรุ่งเรือง ณ เมืองท่าแห่งนี้