อัคระ อินเดีย
เมืองประวัติศาสตร์แห่งความรุ่งเรืองของจักรวรรดิ์โมกุล
เมืองอัคระ เริ่มโด่งดังในฐานะเมืองหลวงของจักรวรรดิโมกุล อันยาวนานตั้งแตปี ค.ศ. 1556 ถึง ค.ศ. 1658 อันเป็นช่วงกำเนิดของโบราณสถานสำคัญในปัจจุบัน อาทิ ทัชมาฮาล (Taj Mahal) ป้อมอัคระ(Akra Fort) และฟาเตห์ปูร์ สิครี (Fatehpur Sikri) ซึ่งโบราณสถานโมกุลทั้งสามแห่งนี้ได้ถูกยกขึ้นเป็นมรดกโลก โดยองค์การยูเนสโก

ทัชมาฮาล นั้นถือเป็นหนึ่งในสิ่งปลูกสร้างที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก เป็นอนุสรณ์สถานแห่งความรักของสมเด็จพระจักรพรรดิชาห์ชะฮันที่มีแก่พระมเหสีของพระองค์ คือ พระนางมุมตาซ มหัล ถือเป็นหนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลก และหนึ่งในโบราณสถานที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก จากทั้งสามแห่งในเมืองอัคระ

ทัชมาฮาลสร้างเสร็จในปี ค.ศ. 1653 โดยสมเด็จพระจักรพรรดิชาห์ชะฮันแห่งราชวงศ์โมกุล เพื่อเป็นที่พักพิงหลังสุดท้ายของพระมเหสีของพระองค์ สร้างจากหินอ่อนสีขาว จึงถือได้ว่าเป็นหนึ่งในอนุสรณ์สถานที่สวยงามและมีเสน่ห์ที่สุดในประเทศอินเดีย โดยก่อสร้างได้อย่างสมมาตร ซึ่งกินเวลาถึง 22 ปี ( ปี ค.ศ. 1630 – ค.ศ. 1652 ) ด้วยแรงงานกว่า 20,000 คน เพื่อสร้างสรรค์สถานที่แห่งนี้ท่ามกลางภูมิทัศน์ที่ได้รับการรังสรรค์อย่างสวยงาม โดยสถาปนิกชาวเปอร์เซีย อุซถัด อิซา ตั้งอยู่บนริมแม่น้ำยมนา ซึ่งสามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าจากบริเวณป้อมอัคระ ที่ซึ่งสมเด็จพระจักรพรรดิชาห์ชะฮันทรงใช้เวลา 8 ปี สุดท้ายของพระชนม์ชีพเฝ้ามองทัชมาฮาล

ทัชมาฮาล นี้ ยังถือเป็นผลงานชิ้นเอกแห่งความสมมาตร และยังมีประโยคจากคัมภีร์อัลกุรอานสลักอยู่โดยรอบ และบริเวณยอดของประตู ประกอบด้วยโดมขนาดเล็กถึง 22 แห่ง ซึ่งแสดงถึงจำนวนปีที่ใช้สร้างอนุสรณ์สถานแห่งนี้ บริเวณฐานของอาคารหลักเป็นหินอ่อนสีขาว ซึ่งซ้อนอยู่บนหินทรายซึ่งเป็นฐานชั้นล่างสุด โดมหลังที่ใหญ่ที่สุดวัดเส้นผ่านศูนย์กลางได้ถึง 60 ฟุต (18 เมตร) ซึ่งภายใต้นั้นเป็นบริเวณที่ฝังพระศพของพระนางมุมตาซ มหัล ซึ่งต่อมาได้มีการสร้างหลุมพระศพของสมเด็จพระจักรพรรดิชาห์ชะฮันเคียงข้างกัน โดยสมเด็จพระจักพรรดิออรังเซ็บ (Aurangzeb) ซึ่งเป็นบุตรของพระองค์ ภายในอาคารนั้นตกแต่งด้วยงานฝีมืออันวิจิตรฝังอัญมณีต่างๆ

ป้อมอัคระ (บางครั้งเรียก ป้อมแดง) สร้างโดยสมเด็จพระจักรพรรดิอัคบาร์ (Akbar) แห่งราชวงศ์โมกุลในปี ค.ศ. 1565 และเป็นอีกสถานที่หนึ่ง ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของอัคระ หลักศิลาจารึกที่พบบริเวณประตูทางเข้าระบุว่าป้อมแห่งนี้ถูกสร้างก่อนปี ค.ศ. 1000 และต่อมาได้รับการบูรณะโดยสมเด็จพระจักรพรรดิอัคบาร์ ป้อมที่ทำจากหินทรายสีแดงแห่งนี้ ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นพระราชวังในรัชสมัยของสมเด็จพระจักรพรรดิชาห์ชะฮัน และถูกผสมผสานด้วยองค์ประกอบของหินอ่อนและตกแต่งแบบฝังพลอย ที่เรียกว่า “ปิเอตรา ดูร่า” (pietra dura) อาคารหลักๆ ภายในป้อมอัคระ ได้แก่ มัสยิดไข่มุก (Moti Masjid) ท้องพระโรง พระราชวังพระเจ้าชะฮันคีร์ (Jahangir Palace) ตำหนักมูซัมมัน เบิร์จ (Musamman Burj) เป็นต้น

โครงสร้างภายนอกเป็นป้อมปราการอันหนาแน่น ซึ่งทำหน้าที่ปิดบังความงามดุจสวรรค์ที่อยู่ภายใน ป้อมปราการโดยรอบนั้นสร้างในรูปเสี้ยวพระจันทร์ขึ้นทางฝั่งทิศตะวันออก ซึ่งเป็นกำแพงตรงและยาวขนาบแม่น้ำ มีความยาวเป็นระยะทางรวมทั้งสิ้นถึง 2.4 กิโลเมตร (1.5 ไมล์) และมีกำแพงขนาดใหญ่ซ้อนถึงสองชั้น และมีมุขป้อมยื่นออกมาเป็นระยะๆ ตลอดความยาว และมีคูเมืองขนาดความกว้าง 9 เมตร (30 ฟุต) และลึกถึง 10 เมตร (33 ฟุต) ล้อมรอบกำแพงชั้นนอกอีกชั้นหนึ่ง

สมเด็จพระจักรพรรดิศิวจีแห่งจักรวรรดิมราฐา (Maratha Empire) เคยเสด็จมาภายในป้อมแห่งนี้ที่อาคารท้องพระโรง เพื่อลงพระนามในสนธิสัญญาปูรันดาร์ (Treaty of Purandar) กับสมเด็จพระจักรพรรดิออรังเซ็บ โดยการคุมตัวของราชบุตรใจสิงห์ (Jai Singh I) ผู้เป็นแม่ทัพของจักรวรรดิโมกุล ซึ่งในการเข้าเฝ้าครั้งนั้นพระองค์ถูกจัดที่ประทับบริเวณด้านหลังของผู้มีบรรดาศักดิ์ที่ต่ำกว่า จึงทรงกริ้วอย่างมากเนื่องจากถูกลบหลู่หมิ่นพระเกียรติ และถูกจับกุมโดยราชบุตรใจสิงห์ (Jai Singh I)และคุมขังไว้ที่นั่นเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม ค.ศ. 1666 และต่อมาทรงหลบหนีได้สำเร็จ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม ค.ศ. 1666 เนื่องจากเกรงว่าจะถูกประหารโดยสมเด็จพระจักรพรรดิออรังเซ็บ เหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้มีการสร้างอนุสาวรีย์สมเด็จพระจักรพรรดิศิวจี ด้านนอกของป้อมอัคระ เพื่อแสดงถึงความเด็ดเดี่ยวกล้าหาญของพระองค์

ป้อมปราการแห่งนี้จัดเป็นผลงานตัวอย่างของสถาปัตยกรรมโมกุล ซึ่งเป็นแบบอย่างของป้อมปราการของอินเดียตอนเหนือ ซึ่งแตกต่างจากของอินเดียตอนใต้ ซึ่งมักจะสร้างยื่นลงไปในทะเล หรือหน้าผาริมน้ำ อาทิ ป้อมปราการแห่งเบกาล ในรัฐเกรละ เป็นต้น
แม้เมืองอัคระจะมีความรุ่งเรืองในช่วงเวลาหนึ่งของจักรวรรดิ์โมกุล แต่ก็เป็นอดีตเมืองหลวงที่เก่าแก่ของอินเดีย ในสมัยที่ยังเรียกว่า “ฮินดูสถาน” (Hindustan) เป็นเมืองที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำยมนา (Yomuna) ทางตอนเหนือของประเทศอินเดียในรัฐอุตตรประเทศ ตั้งอยู่ห่างจากเมืองลัคเนา (Lucknow) ซึ่งเป็นเมืองหลวงของรัฐอุตตรประเทศไปทางทิศตะวันตกเป็นระยะทาง 363 กิโลเมตร (226 ไมล์) และ 200 กิโลเมตร (124 ไมล์) ทางทิศใต้ของกรุงนิวเดลี เมืองอัคระมีประชากรทั้งหมด 1,686,976 คน (สถิติปี ค.ศ. 2010) ถือเป็นหนึ่งในเมืองที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดในรัฐอุตตรประเทศ และอันดับที่ 19 ในประเทศอินเดีย
อัคระ เคยถูกกล่าวถึงในมหากาพย์มหาภารตะ โดยถูกเรียกว่า “อัครวนา” (Agrevana) แปลตามศัพท์สันสกฤตว่า “นครชายป่า” และยังเกี่ยวข้องกับพระฤๅษีอังคีรส หนึ่งในสิบมหาฤๅษีของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู แต่ถ้าพูดถึงการสร้างเป็นเมืองนั้น ตำนานกล่าวว่าเกิดขึ้นในสมัยเจ้าเชื้อสายราชบุตรชื่อ “ราชปฎลสิงห์” (Raja Badal Singh) เมืองนี้เคยผ่านสมรภูมิครั้งใหญ่ๆ เมื่อราวหนึ่งพันปีก่อน มีการเปลี่ยนผู้ครองเมืองเป็นระยะ
กษัตริย์องค์แรกที่ย้ายเมืองหลวงจากเดลีไปยังอัคระได้แก่ “สุลต่านสิกันดร โลที” (Sultan Sikandar Lodi) เมื่อ ค.ศ. 1506 (ยุคกรุงศรีอยุธยา) จนกระทั่งสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1517 “สุลต่านอิบราฮิม โลที” (Ibrahim Lodi) พระโอรส ปกครองอัคระต่อมาอีก 9 ปี จนกระทั่งพ่ายแพ้ในยุทธการแห่งปณิปัต (Battle of Panipat) ในปี ค.ศ. 1526
จากนั้นมาระหว่างปี ค.ศ. 1540 ถึง ค.ศ. 1556 เจ้าเชื้อสายอัฟกานิสถานได้เข้าปกครองเมืองแทนเริ่มจากเจ้าเชอร์ชาห์สุรี (Sher Shah Suri) และเจ้าเหมจันทร์วิกรมทิตย์ (Hem Chandra Vikramaditya) ราชาแห่งชาวฮินดู ก่อนที่จะเริ่มโด่งดังในฐานะเมืองหลวงของจักรวรรดิโมกุล อันยาวนานตั้งแต่ปี ค.ศ. 1556 ถึง ค.ศ. 1658 อันเป็นช่วงกำเนิดของโบราณสถานสำคัญในปัจจุบัน อาทิ ทัชมาฮาล (Taj Mahal) ป้อมอัคระ(Akra Fort) และฟาเตห์ปูร์ สิครี (Fatehpur Sikri) ซึ่งโบราณสถานโมกุลทั้งสาม แห่งนี้ได้ถูกยกขึ้นเป็นมรดกโลกโดยองค์การยูเนสโก