เทศกาลกินผักภูเก็ต

เทศกาลกินเจภูเก็ต หรือในชื่อของเทศกาลถือศีลกินผัก มีชื่อเสียงเป็นอย่างมาก ในการสือสานประเพณีต่อกันมาอย่างยาวนาน  จัดขึ้นเพียงปีละหนึ่งครั้ง ดั้งเดิม ชาวจีนที่อาศัยอยู่ในภูเก็ตจะเรียกประเพณีเทศกาลกินเจว่า “เจี๊ยะฉ่าย” มาจากลัทธิเต๋า ที่นับถือบูชาเซียน เทพเจ้า รวมไปถึงวีรบุรุษ ซึ่งเทศกาลกินเจภูเก็ต จะมีระยะเวลาทั้งสิ้น 9 วัน ในราวเดือนตุลาคมของทุกปี

ประเพณีกินผัก(เจี๊ยะฉ่าย) ที่ชาวภูเก็ตเรียกว่า เจี๊ยะฉ่าย นั้น สืบเนื่องจากลักทฺเต๋า ที่นับถือเทพเจ้า เซียน เทวดา และวีระบุรุษ ที่ปฏิบัติสืบเนื่องกันมาช้านาน โดยจะประกอบพิธีในวันขึ้น 1 ค่ำถึงขึ้น 9 ค่ำ ของทุกปี 

ประเพณีกินผักในภูเก็ต เริ่มขึ้นครั้งแรกที่หมู่บ้านกะทู้ หรืที่คนจีนเรียกว่า ไล่ทู คนจีนเหล่านี้ได้อพยพเข้ามาอยู่ที่กะทู้เพื่อทำเหมืองแร่ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแล้ว ในช่วงปี พ.ศ. 2342 พม่าได้เข้ามารุกรานจึงทำให้ผู้คนที่ถลางต่างหีนหายแตกกระจายกันออกไป หลังจากนั้นจึงได้รวมตัวกันใหม่ โดยเฉพาะที่กะทู้ที่มีการทำเหมืองดีบุกกัน ในปี พ.ศ. 2368 มีผู้คนหลายหลายเชื้อชาติโดยเฉพาะคนจีนที่อพยพเข้ามาสมทบกับคนที่อยู่มาแต่เดิม จึงมีผู้คนอยู่กันจำนวนมาก ลักษณะของพื้นที่ของกะทู้ก็ยังเป็นป่าดิบสมบูรณ์ จึงมีไข้ป่าที่เล่นงานชาวบ้านชาวเหมืองอยู่เนื่องๆ ต่อมา

เมื่อมีผู้คนอยู่กันมาก ความบันเทิงที่ถูกใจชาวเหมืองซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวจีนก็คือ งิ้ว ในปี พ.ศ. 2368 มีคณะงิ้วเร่ ได้เดินทางมาจากประเทศจีนมาเปิดการแสดงอยู่ตลอดทั้งปี ในตอนนั้นเศรษฐกิจของกะทู้ดีมาก มีตึกดินสร้างขึ้นเพื่ออยู่อาศัยถึง 26 หลัง และโรงร้านอีก 112 หลัง จึงอุดหนุนคณะงิ้วได้อย่างดี แต่เมื่ออยู่แสดงไปได้พักหนึ่ง ชาวคณะก็ป่วยไข้ขึ้นมา  ทำให้คณะงิ้วรำลึกว่า ตนเองไปได้ประกอบพิธีเจี๊ยะฉ่าย ดังที่เคยทำมาทุกปี เมื่ออยู่ที่เมืองจีน ซึ่งได้ปฎิบัติสืสานมาจากบรรพบุรุษตั้งแต่สมัยพระเจ้าอึ่งตี่ฮ่องเต้เป้นต้นมา แต่ด้วยไม่สามารถเดินทางกลับไปทำพิธีในศาลเจ้าที่ประเทศจีนดังที่ได้ปฎิบัติมา จึงตกลงใจประกอบพิธีเจี๊ยะฉ่ายกันที่โรงงิ้วนั้นเอง เป็นการบูชาเทพเจ้าและขอขมาลาโทษที่ได้ละเว้นในการทำพิธีด้วยอยู่ต่างบ้านต่างเมือง

ต่อมาชาวคณะงิ้วก็หายจากอาการป่วยไข้ รวมทั้งชาวกะทู้เองโรคภัยก็ลดลงด้วย เมื่อได้ทราบว่าชาวคณะงิ้วได้ประกอบพิธีกินผักจากโรคภัยไข้เจ็บห่างหาย และคณะงิ้วก็ได้ประกอบพิธีกินผักตลอด 2-3 ปีที่อยู่ที่กะทู้ โรคภัยไข้เจ็บได้ลดน้อยลงและหายไปในที่สุด ทำให้ชาวจีนที่อาศัยทำเหมืองแร่ และอยู่ตามป่าเขามีความเชื่อและเหลื่อมใสมากขึ้น ก่อนที่คณะงิ้วจะย้ายไป ได้มอบรูปพระกิ้มซิ้นมเล่าเอี๊ยะ,ส่ามอ๋องฮู่อ๋องเอี๋ยมส่ามไถ้จือ และได้คำแนะนำแก่ชาวจีนในการประพิธีกรรมฉบับย่อไว้ให้ และเมื่อชาวจีนในกะทู้ได้ประกอบพิธีกรรมเจี๊ยะฉ่าย ได้มีผู้รู้ที่เดินทางมาจากมณฑลกังไส ก็ได้ให้คำแนะนำว่า ไม่ถูกต้องตามแบบฉบับของฉ้ายตึ้ง และได้รับอาสาเดินทางกลับไปมณฑลกังไส ประเทศจีน เพื่ออัญเชิญธุไฟกลับมา ชาวจีนในกะทู้ได้ร่วมกันรวบรวมทุนทรัพย์มอบให้เป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทาง

อีก 2-3 ปี ต่อมา ในระหว่างที่ชาวจีนที่กะทู้กำลังประกอบพิธีเจี๊ยะฉ่าย จนถึงวันขึ้น 7 ค่ำ ตามปฏิทินจีนในเวลากลางคืน เรือใบจากประเทศจีนได้เดินทางมาถึงท่าบางเหนียวในปัจจุบัน ผู้ที่อาสาเดินทางไปได้มาถึงพร้อมกับเรือลำนี้ และส่งคนมาแจ้งให้ชาวจีนในกะทู้ทราบ เพื่อให้คณะกรรมการที่ประกอบพิธีเจ๊ยะฉ่ายไปรับพร้อมอัญเชิญเชี้ยเหี้ยวเอี้ยน(ผงธูป) ที่นำกลับมาด้วย ในวันรุ่งขึ้นที่ท่าบางเหนียว นอกจากธูปที่นำมาด้วย ยังมีแก้ง หรือบทสวดมนต์ คัมภีร์ ตำราต่างๆ และป้ายชื่อเต้าโบ้แก้ง ป้ายชื่อติดหน้าอ๊ามฉ้ายตึ้ง และในวันนี้ก็เป็นต้นกำเนิดของการรับพระนั้นเอง

ประเพณีกินผักที่เกิดขึ้นที่กะทู้ ชาวภูเก็ตได้ปฎิบัติสืบเนื่อง และขยายวงกว้างจนทั่วเกาะภูเก็ตมาถึงปัจจุบัน เป็นเวลาหลายร้อยปี ซึ่งถือว่าเป็นประเพณีที่ดีงามของชาวภูเก็ต

ในพิธีกินผัก ช่วงบ่ายก่อนวันมีพิธี 1 วัน จะมีพิธียกเสาโกเต้งไว้หน้าศาล เพื่อประกอบพิธีเชิญเจ้า ยกอ๋องซ่งแต่ (พระอิศวร) และกิ๋วอ๋องไต่แต่ (ผู้เป็นใหญ่ทั้ง 9) มาเป็นประธานในพิธี ได้นำตะเกียง 9 ดวง สัญลักษณ์การเริ่มพิธีไว้บนเสาโกเต้งเวลาเที่ยงคืน และตลอดทั้ง 9 วันที่มีพิธีกรรมต่างๆ เช่น พิธีอัญเชิญเทวดาผู้กำหนดเวลาเกิดและตาย

พิธีแห่พระ พิธีอาบน้ำมัน ลุยไฟ สเดาะเคราะห์ การทรงพระ ผู้เข้าร่วมพิธีกินผักนั้น เชื่อว่า นอกจากจะได้รับผลบุญกุศลแล้ว ยังทำให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง จิตใจมีเมตตา ละเว้นจากอบายมุขทั้งปวง อันก่อให้เกิดความสะอาด สว่าง สงบในจิตใจ

การกำหนดการกินผักได้กำหนดให้จัดขึ้นในเดือนตุลาคม  ในเทศกาลกินผักที่ผ่านมาทุกปี ได้มีนักท่องเที่ยวเชื้อสายจีนจากภายในประเทศ และประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น สิงคโปร์ มาเลเซีย ไต้หวัน และจีน จองห้องพักเดินทางมาท่องเที่ยวภูเก็ตในช่วงเทศกาลถือศีลกินผัก ซึ่งในปีนี้ก็ คาดหมายว่าจะมีผู้มาร่วมกิจกรรมกันอย่างมากมายเช่นกัน

ข้อควรปฏิบัติ 10 ประการสำหรับผู้ถือศีลกินผัก

          1 ชำระร่างกายให้สะอาดตลอดช่วงงานประเพณีถือศีลกินผัก 
          2 ทำความสะอาดเครื่องครัวและแยกใช้คนละส่วนกับผู้ที่ไม่ได้ถือศีลกินผัก 
          3 ควรสวมชุดขาวตลอดช่วงงานประเพณีถือศีลกินผัก 
          4 ประพฤติตนดีทั้งกายและใจ 
          5 ห้ามบริโภคเนื้อสัตว์ 
          6 ห้ามมีเพศสัมพันธ์ในช่วงงานประเพณีถือศีลกินผัก 
          7 ห้ามดื่มสุราและของมึนเมา 
          8 ผู้ที่อยู่ระหว่างไว้ทุกข์ไม่ควรร่วมงานประเพณีถือศีลกินผัก 
          9 หญิงมีครรภ์ไม่ควรดูพิธีกรรมใด ๆ ในช่วงงานประเพณีถือศีลกินผัก 
          10 หญิงมีประจำเดือนไม่ควรร่วมพิธีกรรมใด ๆ ในช่วงงานประเพณีถือศีลกินผัก