เสียมเรียบ เมืองแห่งปราสาทหิน

อรุณรุ่งจนเห็นทัศนียภาพรอบกายอย่างชัดเจน ส่วนเป็นพงหญ้า และต้นไม้ไม่สูงนักขึ้นอยู่ในน้ำ เมื่อเรือแล่นออกไปบ้านลอยน้ำที่หนาตาในช่วงแรกเริ่มบางตาลง และเมื่อเรือแล่นมาถึงร่องทางน้ำที่แยกไปทางด้านซ้าย-ขวา จึงเห็นบ้านลอยน้ำหนาแน่นขึ้นอีกครั้งสองฟากฝั่งร่องน้ำ

โตนเลสาบ

ชมพระอาทิตย์ขึ้นยามเช้าที่โตนเลสาบ Photo by Oxyde Colors 

งัวเงียตื่นขึ้นมาอาบน้ำแต่งตัวตอนตีสี่ของวันที่ 3 ของการเดินทาง วิ่งลงมาให้ทันเวลาล้อหมุน รถแล่นออกไปยังฝั่งทะเลสาบ ไปถึงฟ้ายังไม่สว่างดี เห็นชาวบ้านตระเตรียมสินค้าไว้ขายตอนเช้า  มีบ้านหลังเล็กหลังน้อยของชาวประมงปลูกเรียงรายไปตามสองฟากถนนที่ทอดยาวออกไปในเวิ้งน้ำในทะเลสาบ พอลงเรือก็หยิบเอากล้องออกมาเช็คดูความเรียบร้อย ที่ไหนได้ ลืมรังแบตเตอรี่ไว้ที่โรงแรม งานนี้เลยชวดไม่ได้ภาพ นึกในใจ ไม่เป็นไร จะตั้งหน้าตั้งตาจดจำซึมซับบรรยากาศและภาพที่เห็นตรงหน้าเอาไว้อย่างเต็มอิ่ม

อรุณรุ่งจนเห็นทัศนียภาพรอบกายอย่างชัดเจน ส่วนเป็นพงหญ้า และต้นไม้ไม่สูงนักขึ้นอยู่ในน้ำ เมื่อเรือแล่นออกไป บ้านลอยน้ำที่หนาตาในช่วงแรก เริ่มบางตาลง และเมื่อเรือแล่นมาถึงร่องทางน้ำที่แยกไปทางด้านซ้าย-ขวา จึงเห็นบ้านลอยน้ำหนาแน่นขึ้นอีกครั้ง สองฟากฝั่งร่องน้ำมีพงไม้และต้นไม้ขึ้น ซึ่งกำบังลมได้เป็นอย่างดี ชาวบ้านเริ่มออกมาสัญจรทางเรือ ส่วนใหญ่จะวางเครื่องยนต์กลางลำเรือเล็กๆ  ไม่มีเรือหางยาวเหมือนบ้านเรา บางลำก็อาศัยแรงกายพายเรือก็มี

บ้านลอยน้ำอยู่กันเป็นชุมชน มีทั้งโบสถ์ ร้านค้า และแพร้านอาหารขนาดใหญ่ไว้รองรับนักท่องเที่ยว  แต่เท่าที่ทราบจากชาวกัมพูชาเล่าว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่ที่อาศัยในโตนเรสาบถึงร้อยละ 80 เป็นชาวเวียดนาม และถ้านักท่องเที่ยวออกไปกลางวันจะมีเด็กๆ หรือชาวบ้านแอบออกมาขอทานกันมากมาย ที่บอกว่าแอบก็เพราะเป็นเรื่องผิดกฎหมาย บางทีพายเรือมาขอทานก็วางกล้วยไว้บังหน้า วางจนช้ำดำก็ยังไม่ได้ขายสักที เพราะไม่ได้เจตนาจะขายสักหน่อย  แต่เอามาหลอกตำรวจมากกว่า เหล่านี้สร้างความไม่สบายใจแก่ชาวกัมพูชาที่ประกอบธุรกิจท่องเที่ยว แต่เราไม่เห็นภาพเหล่านั้น เพราะไปถึงโตนเรสาบกันแต่ไก่โห่ คุณๆ ทั้งหลาย(ขอทาน)ยังไม่ออกมาทำงาน กลับเข้าโรงแรมมารับประทานอาหารเช้ากันสายสักหน่อย วันนี้เราเตรียมตัวเตรียมแรงเอาไว้เที่ยวปราสาทกันทั้งวันเลยทีเดียว

   ปราสาทบันทายสรี

บันทายสรี ปราสาทขนาดเล็ก แต่ยังคงคงรูปสถาปัตยกรรมที่สมบูรณ์ มีลวดลายอ่อนช้อยสวยงาม ลายจำหลักหินทรายสีชมพูคมชัด มีความงดงามเป็นเลิศ Photo by JJ Ying 

เริ่มต้นที่ ปราสาทบันทายสรี เป็นศิลปะแบบบันทายสรี (พ.ศ. 1510-1550) สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าชัยเชนทรวรมันที่ 2 และพระเจ้าชัยวรมันที่ 5 ต้นพุทธศตวรรษที่ 16 เป็นศาสนสถานฮินดู ลัทธิไศวนิกาย ปราสาทบันทายสรีสร้างในที่ราบมีฐานรองรับตัวปราสาทเท่านั้น ด้วยผู้ดำเนินการสร้าง คือ พราหมณ์ยัชญวราหะ ซึ่งท่านเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และเป็นพระอาจารย์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 5 เป็นเทวสถานขนาดเล็ก สร้างด้วยหินทรายสีชมพูเนื้อละเอียด จำหลักภาพนูนต่ำลวดลายอ่อนช้อย ลายคมชัด มีชีวิตชีวา และความงดงามเป็นเลิศ  ด้วยช่างได้รวมเอาศิลปะยุคเก่าหลายยุคสมัยมาประกอบกันไว้ เช่น แบบพระโค ศิลปะแบบบาแค็ง ศิลปะแบบเกาะแกร์และแปรรูป มาอนุรักษ์ไว้ในปราสาทแห่งนี้ ภาษาเขมรเรียก บันเตย์เสรย แปลว่าป้อมสตรี เป็นปราสาทที่มีความสมบูรณ์มากที่สุดแห่งหนึ่งในกัมพูชา

ปราสาทตาพรหม

ปราสาทตาพรหม สร้างเป็นพุทธศาสนสถาน ที่พระเจ้าอินทรวรมันที่ 2 อุทิศถวายให้แก่พระมารดา พระนางชัยราชจุฑามณี Photo by Daniel Lienert 

มุ่งหน้าเดินทางไปสู่ ปราสาทตาพรหม ที่สร้างแบบศิลปะบายน ในรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ปลายพุทธศตวรรษที่ 18 (ค.ศ. 1729) ได้มีการขยายพื้นที่ต่อเติมอีกในรัชสมัยพระเจ้าอินทรวรมันที่ 2  ปราสาทบายนจัดเป็นวัดในพระพุทธศาสนาเพื่ออุทิศให้แก่พระมารดา พระนางชัยราชจุฑามณี บริเวณผนังทางเข้าที่เชื่อมโคปุระชั้นนอกกับชั้นใน มีภาพจำหลักตามคติธรรมพุทธศาสนาลักธิมหายาน ภายหลังในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 8 ทรงเลื่อมใสศาสนาฮินดูได้ทรงดัดแปลงเป็นเรื่องราวเป็นฮินดูไปในที่สุด ปราสาทตาพรหมสร้างเพื่อให้มาเคียงคู่กับปราสาทพระขรรค์ ซึ่งพระองค์อุทิศถวายให้กับพระราชบิดา ปัจจุบันต้นสะปง (สำโรง) ขนาดใหญ่หลายต้น ขึ้นชอนไชและแผ่รากปกคลุมทั่วไปตามระเบียงคต และยังมีพันธุ์เลื้อยขึ้นอยู่ตามหน้าบัน ทับหลังหรือตัวปราสาท  หลังคา เกิดจากนกมาขับถ่ายมูลที่มีเมล็ดของพันธุ์นี้ทิ้งไว้ รากสะปงมีส่วนช่วยประคองยึดตัวปราสาทไม่ให้พังลงมา

ปราสาทบายน

ปราสาทบายน สลักเสลาหินทรายเป็นพระพักตร์ที่ใหญ่โตของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรสี่ทิศอยู่บนยอด 54 ปรางค์  Photo by Taylor Simpson 

ปราสาทบายน ในพระนครธม เป็นจุดหมายต่อไป ที่นี่เราต้องเปลี่ยนรถบัสที่เล็กอยู่แล้ว ให้เล็กลงไปอีก เนื่องจากมีการสร้างกรอบไม้ค้ำยันประตูทางเข้าทำให้ถนนแคบลง เมื่อเดินทางเข้ามายังบริเวณปราสาท พบพระพักตร์ที่ใหญ่โตของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ปราสาทบายนสร้างในพุทธศตวรรษที่ 18 รัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ในรูปแบบศิลปะบายน ด้วยพระองค์ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนานิกายมหายาน ปรางค์บายนทั้ง 54 ปรางค์ สลักเสลาเป็นพระพักตร์พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรผันพระพักตร์สี่ทิศ จึงมีพระพักตร์ทั้งหมดรวมกัน 216 พระพักตร์ ซึ่งปัจจุบันได้กร่อนพังทลายไปบ้างแล้ว พระพักตร์ที่คอยสอดส่องดูแลความทุกข์สุขของเหล่าพสกนิกรให้อยู่เย็นเป็นสุข รอยยิ้มบายนเปี่ยมด้วยความเมตตากรุณา

ศิลาจำหลัก อัปสรากำลังร่ายรำอย่างงดงาม บนปราสาทบายน Photo by: Dithichaya Ruangsirikorn

ไต่ขึ้นบันไดขึ้นไปบนฐานสูงของปรางค์   เพื่อซึมซับความงดงามอลังการอย่างใกล้ชิด เมื่อถ่ายภาพจนจุใจแล้ว ยามที่ไต่บันไดขาลงถึงรู้สึกได้ถึงความชันอย่างน่ากลัว แม้จะไม่สูงเท่าไรนัก รอบปรางค์มีระเบียงคตรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า 2 ชั้น ที่น่าสนใจ คือ ภาพจำหลักตามผนังในระเบียงคต เป็นภาพของชีวิตในรั้วในวัง ภาพพระราชพิธีต่างๆ  และภาพการจัดกระบวนทัพ การสู้รบ ความเป็นอยู่ของเหล่าทหารในกองทัพ และวิถีชีวิตชาวบ้าน เสียดายที่มีเวลาน้อยนัก จึงไม่สามารถดูภาพเรื่องราวเหล่านี้ได้อย่างละเอียดถี่ถ้วน  

ปราสาทนครวัด 

เรียกง่ายว่าเป็นพระเอกของงานนี้นั้นเอง สร้างขึ้นเมื่อศตวรรษที่ 17 ปี พ.ศ. 1720 เพื่อเป็นศาสนสถานประจำนครของพระองค์ เพื่อบูชาพระวิษณุ หรือพระนารายณ์ สมัยแรกนั้น นครวัดเป็นเทวสถานในศาสนาฮินดู ลัทธิไวษณพนิกาย ต่อมาในสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ได้เปลี่ยนให้เป็นวัดในศาสนาพุทธ ในปัจจุบันกัมพูชาได้ใช้ปราสาทนครวัดเป็นสัญลักษณ์ของประเทศกัมพูชา และได้รับลงทะเบียนเป็นมรดกโลกภายใต้ชื่อ เมืองพระนคร

สถาปัตยกรรมปราสาทนครวัด ขนาดใหญ่งดงามอลังการสะท้อนยอดปรางค์ในบึงน้ำเบื้องหน้า Photo by Vicky Tao on Unsplash

ปราสาทนครวัดก่อสร้างด้วยหินทราย ในยุคเกือบจะสิ้นสุดอำนาจของราชอาณาจักรขอม มีขนาดใหญ่มากถึง 200,000 ตารางเมตร ตัวปราสาทสูง 60 เมตร ยาว 100 เมตร และกว้าง 80 เมตร มีแผนผังที่ถือว่าเป็นวิวัฒนาการขั้นสุดยอดของปราสาทขอม มีปราสาท 5 หลัง ตั้งอยู่บนฐานสูงตามคติของศูนย์กลางจักรวาล กำแพงด้านนอกยาวด้านละ 1.5 กิโลเมตรมีคูน้ำล้อมรอบตามแบบมหาสมุทรบนสวรรค์ที่ล้อมรอบเขาพระสุเมรุ ใช้หินรวม 600,000 ลูกบาศก์เมตร ใช้แรงงานช้างกว่า 40,000 เชือก และแรงงานคนนับแสนขนหินและชักลาก หินมาจากเขาพนมกุเลน ซึ่งอยู่ห่างออกไปกว่า 50 กิโลเมตร มีเสา 1,800 ต้น หนักต้นละกว่า 10 ตัน ใช้เวลาสร้างร่วม 100 ปี ใช้ช่างแกะสลัก 5,000 คน และใช้เวลาถึง 40 ปี

ปราสาทหินนครวัด มีหอสูง 60 กว่าเมตร เป็นศูนย์กลางของกลุ่มปราสาท อันเปรียบเสมือนศูนย์กลางของจักรวาล มีทางเดินขึ้นที่ชันมาก (ราว 50 องศา) ที่จุดบนสุดของหอนี้จะมองเห็นวิวที่สวยสุดของปราสาทนครวัด และทัศนียภาพโดยรอบ กำแพงชั้นนอกรอบปราสาทนั้น มีความยาวกว่า 800 เมตร มีงานจำหลักเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของพระเจ้า สุริยวรมันที่ 2 และเรื่องราวจากวรรณคดีเรื่อง รามายณะ รูปแกะสลักที่มีชื่อที่สุด คือ เทวดาและอสูร กวนเกษียรสมุทรด้วยเขาพระสุเมรุ  ทั้งรูปจำหลักลักนางอัปสร อีกถึง 1,635 นาง ที่ทั้งหมดแต่งกายและทรงผมไม่ซ้ำกันเลย

สะพานนาคปราสาทนครวัด

สะพานนาคปราสาทนครวัด Photo by: Dithichaya Ruangsirikorn

เมื่อทราบข้อมูลคร่าวๆ ดังกล่าวแล้ว การมาเที่ยวปราสาทนครวัดเพียงแวบเดียว มีเวลา 1 ชั่วโมงเท่านั้น เพียงเดินข้ามสะพานนาคที่ทอดยาวก็กินเวลาหลายนาทีแล้ว จุดสำคัญต้องไปถ่ายพระปรางค์ 5 ยอดที่ทอดเงาในน้ำ  รวมถึงพระรูปพระนารายณ์ และเหล่านางอัปสรแสนสวยให้ได้มากที่สุด การเข้าชมปราสาทนครวัดคราวนี้ ต้องเดินรุดหน้าอย่างเดียว ไม่หยุดพินิจพิเคราะห์ใดๆ ทั้งสิ้น ตาก็สอดส่ายหาสิ่งที่ต้องการ กะเกณฑ์มุมภาพอย่างรวดเร็วก็ได้ภาพมาให้ชมเท่านี้ หอสูงที่ว่าชันน่ากลัวนักก็ไม่ได้ขึ้น  แล้วก็กลับมาที่รถตรงเวลา และเป็นคนแรกที่เดินมาถึงรถน่าเสียดายนัก  ในใจก็ได้แต่ปลอบตนเองว่า คงมีโอกาสได้กลับมาชื่นชมและเก็บภาพใหม่อีกครั้งหนึ่ง…

คณะของเราเดินทางต่อไปยังพนมบาเค็ง เจตนาเพื่อให้มาชมพระอาทิตย์ตกดินและภาพมุมสูงของปราสาทนครวัด ด้วยแสงที่ลดน้อยถอยลง และฟ้าที่สลัวมาทั้งวัน ทำให้พอจะคาดเดาได้ว่า ถึงขึ้นไปก็ไม่ได้เห็นพระอาทิตย์ตกดิน ทั้งยังไม่เห็นภาพปราสาทนครวัดอย่างชัดเจนอีกด้วย ใช้พลังงานเดินมาทั้งวันแล้ว จึงขอเวลานอก พักนั่งดื่มน้ำมะพร้าวอ่อน ซื้อเสื้อ นั่งคุยกับคนที่ไม่ได้เดินขึ้นเหมือนกันไปพลางๆ ก่อนที่จะเดินทางไปรับประทานอาหารค่ำพร้อมชมระบำรำฟ้อน แล้วเลยไปช้อปปิ้งที่ตลาดกลางคืน มีของที่ระลึกขายหลายอย่าง งานจำหลักหินจำลองแบบมาจากโบราณวัตถุ งานฝีมือต่าง ภาพวาด และอื่นๆ อีกมากมาย ก็ต้องต่อตามราคากันหนักๆ หน่อย เพราะบอกผ่านมากตามสไตล์ตลาดสำหรับนักท่องเที่ยวตะวันออก

Artisans Angkor

งานฝีมือในศูนย์ศิลปะ

เช้าของวันที่ 3 ตุลาคม วันนี้ได้เที่ยวทิ้งท้ายก่อนจะเดินทางกลับเมืองไทย รับประทานอาหารเช้าเรียบร้อย ทางการกัมพูชาเดินทางมาแสดงความขอบคุณที่คณะของเราเดินทางมาในงานนี้ ทางเราก็ขอบคุณที่เชิญมาร่วมงาน แล้วก็ออกเดินทางไปเยี่ยมศูนย์ Artisans Angkor คล้ายศูนย์ศิลปาชีพบ้านเรา แต่ขนาดเล็กกว่า ก่อตั้งโดยมูลนิธิจากฝรั่งเศส   มีการฝึกฝนให้เยาวชนกัมพูชา อายุ 18-25 ที่คัดเลือกมาจากชนบท ทำงานแกะสลักหิน แกะสลักไม้ ทอผ้า วาดภาพ การแกะสลักหินและไม้ส่วนใหญ่จะเป็นงานสร้างเลียนแบบวัตถุโบราณ นับว่าเป็นงานฝีมือที่ประณีตสวยงามทีเดียว ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.artisansdangkor.com จากนั้นจึงเดินทางไปยังศูนย์วัฒนธรรมเมืองเสียมเรียบ ได้ชมหุ่นขี้ผึ้งวิถีชีวิตชาวกัมพูชาในยุคสมัยต่างๆ และที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่ง คือ โมเดลจำลองการเหตุการณ์การสร้างปราสาทหินขอมโบราณ และมีการแสดงวิถีชีวิตจากประวัติศาสตร์ขอม จนมาถึงชาวกัมพูชาในปัจจุบัน

ราว 11.00 น.ได้เวลาล่ำลาเสียมเรียบ เดินทางกลับมาเมืองปอยเปต ผ่านจังหวัดศรีโสภณ แวะรับประทานอาหารกลางวันที่ศรีโสภณ บัสของเราหมายเลข 8 เป็นบัสสุดท้าย เมื่อได้รับการปล่อยเสรีก็ขับนำลิ่วเป็นคันแรกมาถึงปอยเปต ล่ำลาไกด์ ตันกิมเส้ง แล้วมานั่งคอยคันอื่นๆ ราว 5 โมงเย็น จึงได้ข้ามแดนกลับมายังประเทศไทย แวะสำรวจโรงแรมอินโดชัยนา ที่อำเภออรัญประเทศ ได้รับการต้อนรับจากผู้บริการโรงแรม และผู้อำนวยการ ททท. ภาคกลางเขต 4 เยี่ยมเยียนชมห้องพักโรงแรม และรับประทานอาหารค่ำ แล้วเดินทางกลับสู่กรุงเทพมหานครโดยสวัสดิภาพ

ขอขอบคุณ Indochaina Explorer (Thailand) Co., Ltd. และการท่องเที่ยวประเทศกัมพูชา