ผักสวนครัว สวนสวยกินได้

การกินพืชผักของคนไทยนั้นอยู่บนรากฐานของความรู้ความเข้าใจว่า พืชผักนั้นเป็นทั้งอาหารและสมุนไพร ที่นอกจากนำมาปรุงเป็นอาหารที่รสชาติอร่อยและมีประโยชน์ในการบำรุงร่างกายแล้ว ยังเป็นยาในการป้องกันและรักษาโรคได้อีกด้วย

Photo by Kenan Kitchen on Unsplash

แม้การเรียนรู้ในเรื่องสมุนไพรในอดีต จะอาศัยประสบการณ์และการเฝ้าสังเกตโดยมิได้มีการทดลองและ/หรือทดสอบตามกระบวนการวิทยาศาสตร์ก็ตาม แต่วิทยาการในเรื่องนี้ก็มีการสืบเนื่องมาเนิ่นนาน อีกทั้งการแพทย์แผนใหม่ได้ยอมรับว่าการรับประทานแบบไทย ที่มีข้าวกล้องและพืชผักพื้นบ้านจำนวนมากและหลากหลายชนิดในแต่ละมื้อนั้น มีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างมหาศาล เพราะข้าวกล้องอุดมไปด้วยวิตามินอี ส่วนผักพื้นบ้านของไทยนั้น หลายชนิดมีสารเบต้าเคโรทีนสูงกว่าแครอตที่ถือว่าเป็นแหล่งอาหารที่ให้เบต้าแคโรทีนของซีกโรคตะวันออก ทั้งยังมีพืชหลากหลายชนืดที่ให้วิตามินซีสูง เช่น ผักหวาน ตำลึง ผักบุ้งจีน มะระ ฟักทอง มะม่วงสุก เป็นต้น และสารอื่นๆ ที่จำเป็นต่อร่างกายอีกด้วย

ภาพโดย  Leonor Oom on Unsplash

ดังนั้นจึงถือได้ว่าการบริโภคพืชผักโดยเฉพาะพืชผักพื้นบ้านของไทยนั้น มีประโยชน์อย่างยิ่งในการชะลอความเสื่อมของร่างกาย ทำให้ภูมิต้านทานของร่างกายอยู่ในภาวะสมดุลและเป็นการลดอัตราความเสี่ยงต่อการเป็นโรคชนิดที่ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรค(โรค NCDs หรือ non-communicable diseases เป็นกลุ่มโรคไม่ติดต่อ ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้ป่วยและสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย แต่เป็นแล้วมักจะเรื้อรัง ซึ่งมีโรคร้ายแรงที่คร่าชีวิตผู้คนไปมากมายรวมอยู่ด้วย เช่น หัวใจวาย สโตรก ไตวายเฉียบพลัน มะเร็ง เป็นต้น ) ประกอบกับกระแสความนิยมรับประทานอาหารปลอดสารพิษที่สดใหม่จากธรรมชาติ ทั้งยังเป็นการประหยัดรายจ่าย การปลูกผักสวนครัวไว้ปรุงอาหารเองภายในบ้านจึงฟื้นคืนมาอยู่ในความนิยมอีกครั้งหนึ่ง บ้านที่พอมีพื้นนั้นสามารถปลูกผักสวนครัวได้อย่างหลากหลาย ทั้งนี้คุณต้องหาเวลาว่างในการลงมือทำด้วยตอนเอง ทั้งยังได้ประยชน์เพิ่มเติม คือ ได้ออกกำลังกายที่ไม่เปลื้องงบประมาณในการไปออกกำลังกายตามยิมต่างๆ และทำให้มีเวลาอยู่กับบ้านและครอบครัวมากขึ้น ทำให้ความสัมพันธ์แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

Photo by Pauline Bernard on Unsplash

การทำสวนครัวเป็นกิจกรรมที่คนในครอบครัวมาร่วมทำด้วยกันได้ นอกจากจะประหยัดค่าใช้จ่ายในการซื้อพืชผักแล้ว ยังประหยัดค่าเดินทางไปซื้ออีกด้วย และคิดจะปรุงอาหารที่ไม่ได้วางแผนซื้อเครื่องปรุงเข้ามาก่อนก็ไม่ต้องออกไปซื้อเป็นการฉุกเฉิน เพราะเกือบทุกอย่างที่จำเป็นมีอยู่ในครัวบ้านเราแล้ว ยิ่งเวลาค่ำมืดยิ่งลำบาก และไม่มีผักที่ไหนสดสะอาดได้เท่าที่เราเก็บมาจากสวนครัวของเราเอง

Photo by Bakd&Raw by Karolin Baitinger on Unsplash

สวนครัวในบ้านเป็นแหล่งอาหารที่ปลอดสารพิษ เพราะเราปลูกพืชผักแต่ละชนิดจำนวนน้อย ย่อมมีความปลอดภัยจากแมลงหรือศัตรูพืชมากกว่าแปลงปลูกที่ปลูกพืชชนิดเดียวกันจำนวนมาก ผักสวนครัวที่นำออกมาจำหน่ายในตลาดนั้นมีความจำเป็นที่ต้องมีรูปลักษณ์ที่สวยงามและผลิตออกมาพร้อมกันเป็นจำนวนมาก เพื่อให้คุ้มกับการลงทุนและมีกำไรในแต่ละครั้ง การเร่งความเจริญเติบโตด้วยปุ๋ยเคมีและกำจัดศัตรูพืชด้วยสารเคมีสังเคราะห์จึงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ยาก แต่การปลูกผักสวนครัวในบ้าน เราสามารถควบคุมดูแลในการใช้ปุ๋ยธรรมชาติ ทั้งสามารถควบคุมการใช้สารจากพืชธรรมชาติมากำจัดศัตรูพืชได้อีกด้วย การปลูกพืชผักสวนครัวในบ้านยังช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม สีเขียวของผักจะทำให้รู้สึกสงบเย็นผ่านการมองเห็นอีกด้วย

Photo by note thanun on Unsplash

เราสามารถนำภาชนะที่ชำรุดเสียหาย และเหลือใช้ต่างๆ เช่น กระป๋องรั่ว ขวดบรรจุอาหารหรือเครื่องดื่มทั้งแก้และพลาสติก ถ้วยกระดาษบรรจุเครื่องดื่มมาใช้ในการเพาะปลูก เป็นการนำมาใช้ใหม่ เป็นการดีต่อมลภาวะแวดล้อมอีกทางหนึ่ง

เมื่อได้ผลผลิตจากสวนครัวจนเกินความต้องการใช้บริโภคในครัวเรือนแล้ว ยังนำออกไปให้เพื่อนบ้านเป็นการผูกมิตร แจกจ่ายความรักและความเอื้ออาทรออกไปรอบๆ บ้าน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของความสมัครสมานสามัคคีในชุมชน บางทีเพื่อบ้านอาจสนใจการทำสวนครัวในบ้านและขอความรู้จากตุณ นับว่าเป็นโอกาศอันดีที่จะเผยแพร่กิจกรรมนี้ที่มีประโยชน์ต่อไป

Photo by Desirae Hayes-Vitor on Unsplash

ขออธิบายคร่าวๆ เกี่ยวกับเรื่องคุณประโยชน์ของวิตามินและสารอาหารจากผักว่ามีผลไม้ดีต่อร่างกายอย่างไร

เมื่อเรากินอาหารปิ้ง ย่าง ทอด จนไหม้เกรียม หรืออาหารที่ปนเปื้อนสารเคมีสังเคราะห์ที่มักจะใช้ในระบบการผลิตอุตสาหกรรมอาหาร หรือติดมาจากการใช้สารเคมีฆ่าแมลง สารกันบูด และสีผสมอาหารบางประเภท และ/หรือท่านอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เป็นพิษ เช่น มีควันพิษจากการเผาไหม้ของเครื่องรถยนต์ จากโรงงาน ควันบุหรี่ หรือมลภาวะอื่นๆ จะทำให้ร่างกายเราเกิดปฏิกิริยาการสูญอิเล็กตรอนของเซลล์

เมื่อเซลล์สูญเสียอิเล็กตรอน จึงทำให้เกิดอนุมูลอิสระขึ้นในโมเลกุลของร่างกาย โมเลกุลเหล่านั้นจะพยายามปรับตัวเองเพื่อให้สมบูรณ์ดั่งเดิม โดยการดึงอิเล็กตรอนจากโมเลกุลข้างเคียง จึงทำให้เกิดอนุมูลอิสระแบบลูกโซ่ ในขณะที่มีปฏิกิริยาดึงและสูญเสียอิเล็กตรอนนั้นทำให้เกิดพลังงานขึ้นมาอย่างมหาศาล ซึ่งเป็นต้นเหตุของความเสื่อมของเซลล์และมีผลต่อเนื่องทำให้อวัยวะเสื่อม ในที่สุดร่างกายก็เสื่อมและอาจเป็นเหตุให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บ อันเป็นมูลเหตุให้เสียชีวิตในที่สุด

Photo by Markus Spiske on Unsplash

โรคที่เกิดเนื่องจากอนุมูลอิสระมี 3 ประเภทใหญ่ๆ ดังนี้

ประเภทแรก คือ โรคเสื่อม จะเกิดไขมันในเส้นเลือดสูง โรคอ้วน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ อัมพาต โรคข้อเสื่อม ต้อกระจก และผิวหนังเกิดริ้วรอยเหี่ยวย่น
ประเภทที่สอง โรคภูมิต้านทาน อย่างพวกโรคภูมิแพ้ โรคภูมิต้านทานทำลายตัวเอง หอบหืด โรคไขข้ออักเสบ รูมาตอยด์ ภูมิต้านทานต่ำ ภูมิต้านทานบกพร่อง เป็นต้น
ประเภทสุดท้าย จะเป็นสาเหตุให้เกิดมะเร็งในส่วนต่างๆ ของร่างกาย

แต่ก็นับว่าโชคดีที่ร่างกายสามารถต้านอนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งมี 2 ทางด้วยกัน คือ อย่างแรก ร่างกายสร้างต้านอนมูลอิสระขึ้นมาในร่างกาย สารนี้เป็นเป็นเอมไซม์ต่างๆ หลายชนิด อีกประการหนึ่ง คือ สร้างสารต้านอนุมูลอิสระจากการรับสารที่กินอาหารเข้าไป ซึ่งได้แก่ วิตามินอี เบต้าแคโรทีน วิตามินซี และเซเลเนียม สารอาหารเหล่านี้มีมากในข้าวกล้องและพืชผักพื้นบ้านของไทย ซึ่งจะกล่าวถึงดังต่อไปนี้

Photo by Steffi Pereira on Unsplash

วิตามินอี เป็นวิตามินที่พบมากในเมล็ดธัญญาพืชทุกชนิด และมีมากในข้าวกล้อง ถั่วต่างๆ จมูกข้าว และรำข้าว วิตามินอีเป็นสารที่มีความสำคัญ เมื่อทำงานร่วมกับเบต้าแคโรทิน และวิตามินซี จึงจะสร้างสารต้านอนุมูลอิสระได้

เบต้าแคโรทีน เป็นวิตามินเอจากพืชและผลไม้ พืชที่ให้เบต้าแคโรทีนมากจะมีสีเขียวเข้ม อย่างเช่น ยอดแค ใบยอ ตำลึง โหระพา ใบชะพลู เป็นต้น และยังพบเบต้าแคโรทีนในพืชและผลไม้สีเหลือง ส้ม แดง เช่น ฟักทอง แครอต มะละกอ มะม่วงสุก เป็นต้น
วิตามินซี เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่สำคัญมากอีกตัวหนึ่ง มีมากในผักสดและผลไม้สด ควรกินผักสดและผลไม้สดที่เก็บมาใหม่ จึงจะได้วิตามินซีสูงสุด เพราะถ้าเก็บมาค้างวันค้างคืน วิตามินซีจะลดลงอย่างรวดเร็วจนไม่เหลือเลยก็ได้ การกินวิตามินซีจากสารสังเคราะห์ก็ได้ผลไม่ดีเท่าที่กินจากธรรมชาติ
เซเลเนียม เป็นเกลือแร่ที่ได้จากข้าว หัวหอม หัวกระเทียม หอมใหญ่ ต้นหอม ต้นกระเทียม มะเขื่อเทศ และอาหารทะเล เซเลเนียมเป็นตัวประสานการทำงานของเอมไซม์ ทำหน้าที่เป็นโคเอมไซม์ ระหว่างวิตามินอี เอ และซีอีกทีหนึ่ง

ดังนั้นสรุปได้ว่าการบริโภคพืชผัก โดยเฉพาะพืชผักพื้นบ้านของไทยนั้นมีประโยชน์อย่างยิ่งในการชะลอความเสื่อมของร่างกาย ทำให้ภูมิต้านทานของร่างกายอยู่ในภาวะสมดุล ทั้งยังลดอัตราการเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งต่างๆ

การปลูกพืชผักสวนครัวเอาไว้กินเองจึงเป็นการส่งเสริมให้เราได้สารอาหารสดใหม่ ปลอดสารพิษ เพื่อให้ร่างกายได้ใช้ในการต้านอนุมูลอิสระ หรือเป็นการชะลอความเสื่อมของร่างกายได้เป็นอย่างดี